top of page
Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

ปี 2025 คือฝันร้ายของ SMEs ไทย (อย่างหลีกเลี่ยงมิได้)



วันนี้ (30 พ.ย.) ผมไปร่วมงานสัมมนาใหญ่ของ Trader KP และ Business Tomorrow มาครับ มีนักลงทุนและผู้ที่สนใจข้อมูลด้านเศรษฐกิจมาร่วมงานเยอะเลย หลายคนตั้งใจมาฟังคุณบรรยง พงษ์พานิชและ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กัน


และหนึ่งในไฮไลต์ของงานที่ผมชอบคือเสวนา "Unraveling Geopolitical Shifts ไขรหัสการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์" โดย ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้าน Future Economy ของ TDRI และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ


ตอนนี้ดูเหมือนความตื่นตระหนกเรื่องสงครามการค้าระลอกใหม่จะกระพือไปทั่วทุกตารางนิ้วของโลกแล้ว รับกับการกลับมาของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ที่ดูท่าจะเข้มขึ้นในเทอมที่ 2


แล้วเขตเศรษฐกิจเล็กๆบนแผนที่โลกอย่างไทยจะเป็นอย่างไร?


ดร. สันติธารมองว่าปีแรกของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 (2568) จะเป็นปีที่ทรัมป์ใช้นโยบายที่โหดและรุนแรงที่สุดเพื่อโมเมนตัมทางการเมือง โดยเชื่อว่าในเทอมที่สองนี้จะไม่เหมือนเทอมแรก และตัวเขาเข้าใจกลไกของทำเนียบขาวมากขึ้นแล้ว สิ่งที่น่าจับตานอกจากสงครามการค้าคือเป้าประสงค์ในการแก้แค้นคู่อริทางการเมืองในประเทศที่ทรัมป์ตั้งธงเอาไว้



ความย้อนแย้งของมาตรการทางเศรษฐกิจคือภาวะค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าแม้ทรัมป์จะพยายามเน้นเรื่องการทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าแต่การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์จะทำให้เงินเฟ้อของอเมริกาสูงขึ้นและกระทบกับธนาคารกลางสหรัฐ (Fed)ในการลดดอกเบี้ยและเงินทุนไหลออกออกนอกประเทศจะน้อยลง แต่เศรษฐกิจของยุโรปจะกระทบหนัก ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอีก


สิ่งที่น่าจะเป็นผลบวกกับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)จากกรณีสงครามการค้าคือการย้ายฐานการผลิตและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลกลดลง เกิดเงินทุนไหลเข้าประเทศที่มีศักยภาพอย่างอินเดีย อินโดนีเซียและเวียดนามมากขึ้น ดร.สันติธารชี้ว่าสมัยทรัมป์เทอมแรก ประเทศเม็กซิโกกับเวียดนามได้ประโยชน์เต็มๆจากการย้ายฐานการผลิต แต่มารอบนี้ทรัมป์อาจจะมาอุดช่องโหว่ เห็นได้จากการขู่เม็กซิโกและแคนาดาว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าอีก 25% จึงไม่น่าจะได้อานิสงห์เท่ากับยุคแรก


มองว่าปี 2568 เศรษฐกิจโลกน่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบหนักโดยภาพรวม


สิ่งที่โหดกับเศรษฐไทยคือทางจีนต้องหาทางระบายสินค้ามาที่อาเซียนและไทย ซึ่งจะหนักมากขึ้นกว่าเดิม และเป็นเป็นไปได้ที่จีนจะตอบโต้ด้วยการลดค่าเงินให้อ่อนลงเหมือนเคย ก็จะยิ่งกระทบกับสินค้าไทยที่ต้องแข่งขันสู้กับสินค้าราคาถูกจากจีนมากขึ้น


ดร.สันติธาร แนะทางออกของประเทศไทยคือ 1. เตรียมรับมือกับการทะลักของสินค้าจีนให้ดี เพราะยังไงก็มามากขึ้นแน่ 2. ผู้ประกอบการควรเร่งหาตลาดส่งออกใหม่อย่าง อินเดีย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นนอกเหนือจากอเมริกา-จีน ได้แล้ว 3. ตอนนี้หลายประเทศกำลังแย่งชิงคนเก่งหรือ talent ประเทศไทยก็ควรสร้างแรงจูงใจให้คนมีกำลังซื้อมาอยู่ไทยในฐานะ Hub of Global Talent ให้ได้และ 4. การดึงดูดเงินทุนควรยกระดับสู่การลงทุนซึ่งมาพร้อมความรู้ เกิดถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แรงงานไทยจริง


"คำว่า Resilience (ยืดหยุ่นรับกับการเปลี่ยนแปลง)ไม่พอแล้ว ต้อง Anti-Fragile คือพอมีวิกฤติ ต้องใช้เป็นสปริงบอร์ดแห่งโอกาสเพื่อให้ไทยกระโดดไปข้างหน้าให้ไกลกว่าคนอื่นด้วย" ดร.สันติธาร กล่าว


ขณะที่ ดร.อาร์มประเมินความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ค่อนข้างมืดมนและไม่มีช่องทางในการเจรจากันสักเท่าไหร่ แตกต่างจากแคนาดาและเม็กซิโกที่ตอนนี้พยายามเจรจากับทรัมป์


โดยมองว่าแนวคิด 'Contratian' หรือคิดต่างไม่เหมือนคนอื่น คิดไม่เหมือนก่อน ไม่อยู่ในกระแสหลักนั้นจะมีบทบาทมากขึ้น เห็นได้จากว่าที่คณะรัฐมนตรีของทรัมป์ชุดใหม่จะไม่มีนักวิชาการ ไม่มีข้าราชการเก่า คาดเดาได้ยากซึ่งรัฐบาลจีนต้องรับมือหนักมากขึ้นกว่าเดิม


สิ่งที่ทรัมป์มักจะให้ความสำคัญคือตลาดหุ้นดี การประกาศข้อตกลงทางการค้า รวมทั้งแนวทางในการปฏิวัติหรือพลิกโลก ซึ่งดร.อาร์มยังเชื่อว่านโยบายของเขาจะไปในทางที่แรงแน่แต่จะไม่ขนาดสร้างช็อกแรงๆให้กับเงินเฟ้อและตลาดหุ้นอเมริกามากนักและเป้าหมายใหญ่คือต้องการล้มเลิกโลกาภิวัฒน์เดิมเพื่อรื้อฟื้นภาคการผลิตในอเมริกาให้กลับมาเกิดการจ้างงานอีกครั้ง


เป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนจะรับมือกับอเมริกาต่างออกไปจากเดิม มารอบนี้ทางการจีนเชื่อว่าจะเจรจาไม่ได้เพราะทรัมป์ต้องการเปลี่ยนเศรษฐกิจโลก ดร.อาร์มมองต่างว่าจีนอาจไม่ได้จะลดค่าเงินหยวนได้ง่ายเหมือนแต่ก่อนเพราะอาจเกิดภาวะเงินทุนไหลออก รวมทั้งอาจเป็นผลดีกับเงินเฟ้อของอเมริกาด้วยซ้ำ ซึ่งจีนไม่ต้องการและจีนอาจเล่นเกมในการจำกัดการส่งออกแร่หายากและเครื่องจักรเพื่อขัดขวางการย้ายฐานการผลิตกลับไปที่อเมริกา แม้จะทำไม่ได้มากเพราะต้องระวังเศรษฐกิจของตนเองด้วยก็ตาม นอกจากนี้คาดว่าจีนจะตั้งกำแพงภาษีสินค้าเกษตรโดยเฉพาะถั่วเหลืองจากอเมริกาด้วย



บทสรุปในมุมของดร.อาร์มคือทำอะไรไม่ได้มาก 'ทำใจ' ดีกว่า ส่วนมุมของจีนนั้นคงมองเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว โดยเน้นความสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศ เพิ่มกำลังการบริโภครวมทั้งรุกตลาดอาเซียนและประเทศแถบโลกใต้หรือ Global South ซึ่งธุรกิจของไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน


ในยุคทรัมป์เทอมแรก สินค้าจากไทยส่งออกไปอเมริกาได้มากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจีน แต่มารอบนี้(ทรัมป์2.0) ไทยจะเจอแรงกดดันทั้งจากการส่งออกไปที่อเมริกาโดยตรงที่เจอกับกำแพงภาษี ครั้นจะส่งของไปขายที่จีนก็ยากเพราะเศรษฐกิจแดนมังกรแผ่วแล้ว พอจะไปรุกตลาดโลก อุปสงก์ก็อาจจะหดตัวลงจากสงครมการค้า มิหนำซ้ำสินค้าจีนจะเข้ามาทะลักขายแข่งกับผู้ประกอบการในประเทศอีกต่างหาก


ดร.อาร์มเห็นว่าการย้ายฐานการผลิตจะน้อยกว่ารอบแรกและในรอบนี้จะเป็นการเข้ามาตั้งโรงงานเพื่อเน้นขายในตลาดไทยและโลกใต้ (Global South) ไม่ใช่เน้นส่งขายอเมริกาเหมือนรอบแรก


ดังนั้น SMEs จะเจอกับความท้าทายมากขึ้นอีก


ทางจีนว่าจะใช้กลยุทธ์การต่อสู้ในเกมระยะยาว จากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่หวือหวาอีกต่อไป โดยจีนจะเน้นความอดทนและยืนหยัดต่อไปให้นานที่สุด ขณะที่กานแตกออกของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) จะรุนแรงมากขึ้นไปอีกรวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ จะแยกค่ายแยกขั้วกันชัดขึ้น


ดร.อาร์มมองทางออกของไทยคือ 1. ต้องกระจายความเสี่ยงของตลาดการส่งออกเพราะไม่รู้ว่าใครจะชนะกันแน่ ควรหาตลาดใหม่ให้ได้ทั้งอินเดีย อินโดนีเซียและตะวันออกกลาง 2. ต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ใช่เพื่อแข่งกับจีนหรือใคร แต่ต้องเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของชาติมหาอำนาจด้วยและ 3. ต้องอึดให้มากที่สุดเพราะสงครามการค้ารอบนี้ไม่มี 'ส้มหล่น' แล้ว ประเทศไทยต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหนี้ครัวเรือน ขีดความสามารถในการแข่งขันและเรื่องสำคัญอื่นๆให้ได้


ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศเห็นตรงกันว่าปีหน้า (2568) จะเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการไทยเหนื่อยมากขึ้น ทั้งศึกนอกและศึกใน จริงอยู่ที่โอกาสยังมีอยู่ แต่ถ้าไม่รีบทำอะไรสักอย่าง อย่างที่ควรจะทำกันมานานแล้ว ก็จะเจอกับความท้าทายขนาดใหญ่ที่ยากจะรับมือ


ยังไงโลกในวันพรุ่งนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


Tags:

7 views0 comments

Comentaris


bottom of page