top of page

ยอมรับ เปลี่ยนแปลง เตรียมพร้อม เริ่มต้นใหม่


เช้านี้ออกมาเดินเล่นปากซอยบ้าน หลังจากย้ายมาอยู่เกือบ 8 เดือนแล้ว ยังเดินมาไม่ถึง 5 ครั้งเลย รู้สึกใช้พื้นที่ชุมชนไม่คุ้ม ขอเดินดูต้นไม้ก็ยังดี . ความรู้สึกและสิ่งที่เห็นจริงๆ จากสายตาตัวเองเมื่อเดินผ่าน กับมองผ่านกระจกรถเมื่อขับรถผ่าน มันกลายเป็นคนละเรื่องเลย . ได้เห็นวิถีชีวิตของคนอื่นจริงๆ เสียงตะหลิวผัดกับข้าวจากครัว เสียงตะโกนเรียก (หรือด่า) กันข้ามฟากถนน ผู้สูงอายุจับกลุ่มคุย หลายคนก็ปั่นจักรยานออกมาซื้อกับข้าว มีคนไร้บ้านมานอนหลับอยู่ริมทางเดินด้วย . ซอยบ้านที่ผมอยู่ยังมีความเป็นชุมชนสูง นึกว่าอยู่ในชนบทสักแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ค่อนข้างเงียบ จึงไม่น่าแปลกที่ Developer จะหาโอกาสซื้อที่ดินแปลงใหญ่ในซอยจากแลนด์ลอร์ดแถวนั้นเพื่อสร้างหมู่บ้านชานเมืองขายได้เพราะต้นทุนยังไม่สูงนัก . ผมเป็นตัวอย่างของชนชั้นกลางคนหนึ่งที่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองได้ ก็ต้องมาซื้อบ้านที่ไกลออกไป เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนชีวิตในเมืองใหญ่ทั่วไปนั่นล่ะ ตอนแรกก็สงสัยว่าเราต้องปรับตัวอะไรเยอะแยะหรือเปล่า แต่กลายเป็นดีกว่าที่คาด และตอนนี้ก็เริ่มชอบชีวิตชานเมืองเข้าแล้ว . รถติดน้อยกว่า รูปแบบการใช้ชีวิตกันเองกว่า แต่ขอยืนยันว่า อากาศไม่ได้ปลอด PM2.5 มากกว่าหรือค่าครองชีพถูกกว่านัก เราสูดมลพิษและจ่ายเงินให้กับราคาอาหารที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเท่ากับคนในเมืองอยู่แล้ว . ก็มันชานเมืองกรุงเทพฯ นี่นา . ตรงข้ามปากซอยบ้านของผมเป็นหมู่บ้านใหญ่ เก่าแก่ มีสนามกอล์ฟอยู่ข้างใน บรรยากาศและการจัดการดีมาก เคยขับรถเข้าไปสองครั้งก็ทึ่งกับบ้านหลังใหญ่โตและต้นไม้สูงที่ทอดยาวไปตามทางเดินแบบสุดลูกหูลูกตา . "ถ้าเราได้ในอยู่บ้านแบบนี้คงมีความสุขน่าดูเลย" ผมคิดแบบนั้นและคงไม่ใช่คนเดียวที่คิด เวลาหาเห็นบ้านคนที่หน่วยวัดเป็น 'ไร่' ไม่ใช่ตารางวาแบบผม . เหมือนหมาเห่าเครื่องบินนั่นล่ะ พอเบื่อหรือรู้ตัว ก็เดินกลับมานอนในซอกเล็กๆ ของตัวเอง . ซอยบ้านผมและหมู่บ้านนี้ ใช้ไฟแดงอันเดียวกัน นอกนั้นไม่มีอะไรร่วมและไม่มีอะไรเหมือนกันเลย . คนในซอยบ้านผม ก็ฝันว่าสักวันจะได้ไปอยู่ในหมู่บ้านนั้น ส่วนคนในหมู่บ้านนั้นก็ฝันจะส่งมอบความมั่งคั่งต่อไปให้ลูกและบางทีก็อยากไปอยู่หมู่บ้านอื่นที่ใหญ่กว่าหรือใหม่กว่าด้วยซ้ำ . มันเป็นแบบนั้นแหละ . จู่ๆ ก็คิดว่า มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกเป็นแน่ โจทย์มันไม่น่าจะใช่ "ทำอย่างไรให้มีบ้านอยู่เหมือนหมู่บ้านตรงข้าม?"สิ . มันควรจะเป็น "ทำอย่างไร ให้คนในซอยมีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ในบ้านหลังเก่าของตัวเองได้อย่างมีความสุข?" ต่างหาก . ตั้งโจทย์เป็น ชีวิตก็เปลี่ยน . ตอนนี้มีคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งที่ใกล้ตัวบ้าง ไกลตัวบ้าง เศรษฐกิจน่าเป็นห่วงไม่ใช่แค่บ่นกันลอยๆตามน้ำแล้ว โจทย์ของบางคนคือทำอย่างไรจะมีเงินซื้อข้าวกินเย็นนี้ด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่จะอยู่บ้านหลังใหญ่เลย . พยายามบอกตัวเองทุกเช้าว่ายังโชคดีมากที่มีชีวิตอยู่ มีงานทำ มีพื้นที่เล็กๆ และเวลาให้ได้ทบทวนตัวเองบ้างตามอัตภาพ เท่านี้ก็ดีมากแล้ว . แต่มันไม่พอหรอก . ผมเอง สาวโรงงานที่ปั่นจักรยานออกไปทำงานที่ปากซอย หรือคนในชุมชน ก็ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรดีกับชีวิต วันนี้ถ้ายังโชคดีอยู่ก็ดีไป แล้ววันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ จะโชคดีเหมือนวันนี้หรือเปล่า? . บริษัททั้งหลายยังมี BCP แล้วทำไมคนธรรมดาอย่างเราๆ จะไม่คิดเรื่อง Plan B , C , D , E หรือ F เสียล่ะ? . ยอมรับ เปลี่ยนแปลง เตรียมพร้อม เริ่มต้นใหม่ . โครงสร้างโจทย์ชีวิตเป็นแบบนั้น ต่างกันแค่หน้าตาเท่านั้นเอง




6 views0 comments
bottom of page