top of page
Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

CRG ลุยขยายสาขาต่อ เชื่อเดลิเวอรี่ยังโตต่อ ระวังของแพง-ขาดแรงงาน


BizKlasser ทราบมั้ยครับว่า ในบรรดาร้านค้าแบรนด์ต่างๆ ที่มีมากมายในพอร์ตของ Central Restuarant Group (CRG) แบรนด์ไหนที่มียอดขายต่อตารางเมตรสูงที่สุด? คำตอบคือ Auntie Anne’s ครับ ถือเป็นแบรนด์ที่มาเรื่อยๆ ไม่ได้สื่อสารการตลาดจี๊ดจ๊าดอะไรมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่กลายเป็นว่าขายดิบขายดี อยู่ตรงไหนก็สร้างยอดขายเสมอ ด้วยรสชาติและเอกลักษณ์ของสินค้าเองและกลยุทธ์การตั้งราคาที่ผมว่าทำให้ตัดสินใจง่ายสำหรับคนที่ไปเดินห้างแล้วอยากหาอะไร ‘กินเล่น’ หรือรองท้องให้หายหิว

รองลงมาคือ Mister Donut ที่ยังขายดี เป็นดาวเด่นให้กับ CRG ซึ่งทั้งสองร้านตอนนี้ก็เริ่มมีให้เห็นในปั๊มน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะฟู้ดทรัคที่กำลังมาแรง เนื่องจากเข้าถึงชุมชน สะดวก เป็นทางเลือกให้คนที่เข้ามาเติมน้ำมันหรือสัญจรไปมาแถวนั้น ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้คนออกนอกบ้านกันน้อยลง ฟู้ดทรัคที่เข้าไปใกล้บ้านหรือปากซอยบ้านถือเป็นวิธีที่ฉลาดทีเดียว

วันก่อนมีโอกาสฟังแถลงข่าวของ CRG นำโดย คุณ’ณัฐ วงศ์พานิช’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งยอมรับตรงๆว่าช่วงสองปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารเดือดร้อนไม่น้อยกับการปิดเมืองเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิ่งที่ CRG ค้นพบคือ โอกาสของธุรกิจจัดส่งอาหารหรือ Food Delivery ยังมีอีกมาก แม้ตอนนี้สถานการณ์จะดีขึ้นแล้วแต่เชื่อว่าจะยังเติบโตต่อไปได้และกลายเป็นรายได้ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นให้กับ CRG คาดว่าจะทำเงิน 3.5 พันล้านบาทในปีนี้โตจากปี 2564 ถึง 15%


แนวทางการทำธุรกิจปี 2565 นี้ ก็ตั้งเอาไว้น่าฮึกเหิมทีเดียวนั่นคือ ‘Greater WE : ซีอาร์จี จะยิ่งใหญ่กว่าเดิม’ โดยจะยังขยายสาขาเพิ่มเติม ปรับปรุงร้านที่มีอยู่เสียใหม่ให้ดึงดูดมากขึ้น ขยายส่วนฟู้ดเดลิเวอรี่และเพิ่มคลาวด์คิทเช่นเป็น 20 จุดสำคัญ รวมทั้งยังจับมือกับพันธมิตรรวมทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก ทั้งการร่วมลงทุนและซื้อกิจการเพื่อเพิ่มสัดส่วนร้านอาหารในมือ

“กำไรปีที่ผ่านมา พอใช้ได้” คุณณัฐบอกนักข่าวแบบนั้น สิ่งที่น่าหยิบมาเล่าคือ กลยุทธ์การบริการต้นทุนของ CRG ซึ่งทำ Hybrid Kitchen สำหรับแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น ใช้วัตถุดิบและครัวร่วมกัน เพราะสินค้าคล้ายกัน ทำจุดเดียวก็สามารถเสริฟได้ผ่านหลายแบรนด์ ขณะที่คลาวด์คิทเช่นคือครัวกลาง ที่อาหารสารพัดเมนูจากหลายร้านจะมาอยู่รวมกัน แยกส่วนกันชัดเจน กระจายไปตามจุดที่มีศักยภาพเพื่อรับกับธุรกิจฟู้ดเเลิเวอรี่ที่เติบโต ผู้บริหาร CRG บอกว่ารายได้หลักขององค์กรยังมาจากหน้าร้านเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็จะขยายสาขาด้วยความระมัดระวังมากขึ้น จากนี้จะพิจารณาว่าสาขาไหนที่มีพื้นที่มากเกินความจำเป็น ก็จะปรับลดลงให้เหมาะสม เพราะมียอดขายเติมจากการจัดส่งอาหาร และลูกค้าก็เข้าร้านอาหารกันน้อยลง

ร้านอาหารจะมีขนาดเล็กลง นี่คือสิ่งที่ผมจับใจความได้ครับ

สิ่งที่ต้องตามดูต่อคือเรื่องราคาอาหารครับ เพราะตอนนี้ CRG บอกว่ายังใช้วัตถุดิบจากสต็อกที่มีและคำสั่งซื้อที่ตกลงราคากันไปแล้ว แต่ในช่วงกลางปีนี้ที่จะเริ่มสั่งซื้อใหม่ คาดว่าจะต้องเผชิญกับต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ก็เป็นไปได้ที่ราคาอาหารที่จำหน่ายในร้านของ CRG ต้องปรับขึ้นด้วย เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการต่างก็เดือดร้อนกันหมด ผมถามผู้บริหารไปว่า จะลดคนหรือเพิ่มคน ในปีนี้ ทาง CRG ยังยืนยันว่าจะจ้างคนเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนขยายธุรกิจอีก 200 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งตั้งงบประมาณเอาไว้ 600 ล้านบาทและงบปรับปรุงร้านที่มีอีก 100 ล้านบาท แต่ปัญหาที่น่าปวดหัวตอนนี้คือ ตลาดแรงงานที่ตึงตัว แรงงานภาคบริการไม่ได้กลับมาทำงานเหมือนเดิม คนหนุ่มสาวจำนวนมากกลับบ้านไปช่วงที่ปิดเมืองก็ทำมาหากินอย่างอื่นไปแล้ว ไม่คิดจะกลับเข้าเมืองอีก

ของแพง แรงงานขาด คือสิ่งที่ CRG มองว่าจะยังท้าทายธุรกิจต่อไปในปีนี้ ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ CRG ตั้งงบประมาณอีกส่วนถึง 500 ล้านบาทสำหรับการเข้าซื้อกิจการและร่วมทุนกับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอจะดำเนินธุรกิจต่อ ซึ่งมีจำนวนมาก เราจะเห็นได้จากข่าวของร้านอาหารดังจำนวนมากปิดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 มองอย่างตรงไปตรงมา นี่อาจเป็นช่วง ‘ซื้อของถูก’ ของกลุ่มทุนที่มีเงินหนา ซึ่งเราเห็นกลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศในราคาที่น่าสนใจอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตและเริ่มจะฟื้นตัวแบบนี้ เช่นเดียวกับกลุ่มทุนใหญ่อื่นๆ ที่ไล่ซื้อเก็บโรงแรมทั้งหลายทั่วประเทศ เติมเข้าพอร์ตนั่นเอง จนแล้วจนรอด ก็ต้องชมที่ธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาช่วยกิจการขนาดเล็ก ซึ่งหลายแบรนด์ก็ทรงคุณค่าและไม่น่าปล่อยให้ล้มหายตายจากไปครับ เรื่องดิจิทัลก็ยังจะทำต่อไป ทั้งการเชื่อมโยงฐานข้อมูลลูกค้าสมาขิก The1 เข้ากับร้านอาหาร ของCRG ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่ากลุ่มเซ็นทรัลทำได้ดีกว่าคู่แข่งจริงๆ เพราะผู้บริโภคยอมรับว่า The1 นี่ ‘ใช้ได้จริง มีประโยชน์จริง’ มากกว่าแบรนด์อื่นๆที่เก็บข้อมูลไปเฉยๆ และตัวลูกค้าก็ไม่ได้รู้สึกพิเศษอะไรมากนัก นอกจากนี้จะพบ Virtual Brands จาก CRG บนแพลตฟอร์มต่างๆมากขึ้น เราอาจจะสงสัยว่าร้านนี้อยู่ตรงไหนกันนะ เข้าใจคิด ปรากฏว่าไม่มีหน้าร้าน เปิดขายแต่ช่องทางออนไลน์สำหรับฟู้ดเดเลเวอรี่เท่านั้น อยากกินก็สั่งจากมือถือเอา คราวนี้จะบ่นพ่อครัวหรืออยากขับรถไปนั่งที่ร้านก็ยากหน่อยครับ : ) แน่นอน วันข้างหน้าร้านอาหารบนเมตาเวิร์สและอะไรต่อมิอะไรในโลกเสมือนหรือเกือบเสมือน CRG ก็คงไม่พลาดที่จะกระโดดเข้าไปทำด้วยนั่นล่ะ

นี่เป็นเรื่องเล่าจากงานแถลงข่าวของ CRG ที่ปีนี้ยังตั้งเป้าจะเติบโตขึ้น (อย่างระมัดระวัง) พวกเขาผ่านปี 2021 มาด้วยบรรทัดสุดท้ายที่ยังเป็นบวกอยู่นะครับ ก็ต้องนับถือเรื่องการบริหารจัดการ ปรับตัว และการวางกลยุทธ์ในสถานการณ์ท้าทายครับ เริ่มหิวเพรซเซลแล้วสิ ><

28 views0 comments

Comments


bottom of page