top of page
  • Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

ทริป - IMF-World Bank Annual Meeting



17 ชั่วโมง คือ เวลาที่ผมใช้เดินทางกลับจากเมืองมาราเกซมาที่สุวรรณภูมิครับ


ไม่ได้ถึงบ้านด้วยหัวใจพองโต ปลื้มปิติหรือเอมอิ่มกับเป้าประสงค์ชีวิตอะไรแบบนั้น ผมไม่ใช่คนคูลๆ หรือปรุงแต่งอะไรได้มากนัก เพราะมันเหนื่อยจริง


เหนื่อยแต่สนุกมาก



ทุกปี IMF จะให้การสนับสนุน Fellowship Program แก่กลุ่มนักข่าวจากประเทศรายได้น้อยและประเทศเกิดใหม่เพื่อมาทำข่าวการประชุมประจำปี IMF-World Bank Annual Meeting ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มาปีนี้จัดที่โมร็อกโกพอดี (เวียนจัดในต่างประเทศทุก 3 ปี) ก็เลยได้ไปเปิดหูเปิดตาตลอดทั้งงานตั้งแต่ 9-15 ต.ค. 2566 ตอนแรกก็กลัวเหงาเพราะนักข่าว 14 คน เป็นเอเชียแค่ 3 คนแถมยังเป็นเอเชียใต้ 2 ตน(บังคลาเทศและศรีลังกา) ส่วนอาเซียนมีประเทศไทยคนเดียว


ถือเป็นทริปที่ท้าทายเพราะอากาศทีโมร็อกโกร้อน แดดจัดมาก โรงแรมที่อยู่ก็ไกลจากตัวเมือง จะเดินทางไปไหนเองต้องใช้วิทยายุทธ์ต่อราคาแท็กซี่ทุกครั้ง ซึ่งแต่ละครั้ง/คัน ไม่เคยบอกตัวเลขเดียวกัน ทั้งๆที่จุดหมายปลายทางมีหนึ่งเดียว ชีวิตส่วนใหญ่จึงวนเวียนแต่โรงแรมกับสถานที่จัดประชุม ไม่ค่อยได้ไปเที่ยวไหนนัก


แน่นอนว่าผู้จัดงานจะชวนนักข่าวเข้าฟังวงนั้น ออกวงนี้ เดี๋ยวก็เสนอให้สัมภาษณ์ผู้บริหาร ไม่ค่อยปล่อยให้ว่าง ซึ่งแต่ละคนก็ต้องทำงานตลอด ทั้งเก็บประเด็นจากในงานและส่งข่าวกลับสำนักข่าว ไม่มีใครเปิดโหมด "ชิลๆ" เลย


และเป็นไปตามประสางานประชุมขนาดใหญ่ นักข่าวทุกคนโตมากพอที่จะดูแลตัวเอง เป็นบก.ในตัวเอง (ส่วนใหญ่ที่ไปก็ บก.บห. หรือ ผอ.) ไม่มีใครมาคอยดูแล ประคบประหงม หรือคอยดูว่าติดขัดอะไรมั้ย ถ้าสงสัยก็เดินมาถาม ได้บอกได้ ไม่ได้บอกไม่ได้ ก็แค่นั้น


ที่ประทับใจที่สุดคือเพื่อนๆนักข่าวด้วยกันนี่แหละมีทั้งจากแคริเบียน โคลัมเบีย จอร์แดน คาซัคสถาน อียิปต์ เลบานอน กานา แอฟริกาใต้ ยูเครนและเคนย่า นอกจากความหลากหลายแล้ว ทุกคนพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก แน่นอนว่าสิ่งที่ผมยังทำไม่ได้คือ เขียนข่าวภาษาอังกฤษ คนอื่นๆเขียนได้คล่องแคล่วสุดๆ



ผมกลายเป็นจุดอ่อนของทีมด้วยซ้ำเมื่อพูดได้เพียง 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) หลายคนพูดได้ทั้งอารบิก ฝรั่งเศสและสเปน ทึ่งมากว่าไปฝึกฝนแบบนั้นกันมาจากไหน ทำไมผมยังใช้ทั้งชีวิตประหม่ากับการไล่แกรมม่าอยู่เลย


ผมพูดอังกฤษแบบงูๆปลาๆ(Broken English)โดยเฉพาะตอนเหนื่อยหรือสมองล้า แต่น่าแปลก ไม่มีใครหัวเราะหรือพยายามแก้ไขไวยากรณ์ผมเลย


นี่แหละมั้ง ประชาคมโลก ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เครื่องแสดงสถานะ


บรรยากาศใน Press Center เข้มข้น นักข่าวจากทั่วทุกมุมโลก(ที่ลงทะเบียนมางาน)นั่งหน้าดำคร่ำเครียด ทำงานตลอดเวลา เขียนข่าวเสร็จก็เดินไปฟังเสวนาต่อหรือสัมภาษณ์แหล่งข่าว เป็นแบบนี้ทุกวัน


สำนักข่าวใหญ่อย่าง Bloomberg มีทีมงานมาปักหลักเกือบ 30 คน รองรับทุกมิติ ทุกรูปแบบและทุกแพลตฟอร์มของคอนเทนต์จากงาน หรือ CNBC ก็มีกองที่ใหญ่มากไล่เลี่ยกัน ยังไม่นับรวมสำนักข่าวจากซาอุฯ หรือ ชาติอาหรับรวยๆ ที่อุปกรณ์แน่นระดับโลก


นักข่าวไทยมีมือถือเครื่องเดียว ขาตั้งกล้อง กับไมค์หนีบพกพา


แค่นั้นก็พอแล้ว และนั่ง ยืน เดิน ทำงานกับคนอื่นได้โดยไม่เขินอะไรเลย


แถมยังช่วยชาวบ้านถ่ายคลิปได้อีกต่างหาก


สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ นักข่าวต่างประเทศเขาทำงานกันหนักมากๆ อย่างนักข่าวยูเครนที่ประจำในดีซี ต้องเขียนข่าวความเคลื่อนไหวในอเมริกา แคนาดาทั้งหมด รวมทั้งทุกแถลงของสหประชาติส่งกลับประเทศตัวเองทุกวัน ซึ่งทีมเขามี 3 คนเท่านั้น


หรืออย่างนักข่าวศรีลังกาที่ขยันที่สุดในกลุ่ม เขียนข่าวจากการประชุมส่งกลับไปวันละหลายตัว บางทียังต้องวิ่งไปอัดคลิปรายงานส่งฝ่ายทีวีอีกต่างหาก ผมไม่รู้เขาเอาเวลาไหนกินข้าวกินปลาเลย


เรื่องใหญ่คือ บทบาทและศักดิ์ศรีของความเป็นนักข่าว (ต่างประเทศเขาใช้คำว่า Journalist ก็จบ ไม่ต้องใช้คำว่าคนข่าว/สนามข่าว เอามาบลัฟกันแต่อย่างใด) พอมีเหตุอิสราเอล-ฮามาส นักข่าวก็พยายามถามทั้ง IMFและWorld Bank แทบจะทุกการประชุมเพื่อขอความเห็น นักข่าวจากชาติอาหรับก็พยายามขอพื้นที่ให้กับความจริงที่เกิดขึ้น ทำไม 'รัสเซีย-ยูเครน' ถูกพูดถึง แต่ 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์' กลับกลายเป็นแค่ความขัดแย้งในภูมิภาค


ที่เท่กว่าคือ ผมเห็นกับตาว่านักข่าวจอร์แดนและยูเครนเถียงกันเรื่องแผนที่ ภัยคุกคาม และชี้ให้เห็นว่าทำไมโลกถึงต้องสนใจเรื่องของพวกเขา เพราะต่างก็เดือดเนื้อร้อนใจเหมือนกัน


ดังนั้นทริป IMF Annual Meeting 2023 นี้ ผมไม่ได้ไปแบบ "มาแล้วนะ" แต่เป็น "มาแล้วโว้ย!" เพราะทำอะไรเยอะ ท้าทายความสามารถตัวเอง เปิดโลกข่าวต่างประเทศว่ามันไม่ได้มีแค่อเมริกา-จีน-ยุโรปแค่นั้นนะ เราต้องรู้เรื่องแอฟริกา-อาหรับและอาเซียนเราเองให้ดีกว่านี้ด้วย


ต้องไม่ลืมด้วยว่าประเทศไทยเรานี่เล็กมากๆ บนแผนที่โลก เราไม่ได้ตัวใหญ่ขนาดนั้น เรียนรู้มันไปเรื่อยๆเถอะ


อย่างน้อย ผมก็รู้แล้วว่าภาษาอารบิกนั้นน่าสนใจและจะช่วยเปิดโลกไปสู่โอกาสได้อีกมากเลย


"ชุก-กรัน" (ขอบคุณครับ (شكراً))


ปล. ชมสกู๊ปบทสรุปของงานประชุมได้จากลิงก์นี้ครับ https://youtu.be/iWB4xhCtfZs?si=fY20mnm7MNKZoSlq




2 views0 comments

Comments


bottom of page