top of page
  • Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

เมื่อ Lazada เปิดไพ่ 'หนูไม่รู้'

Updated: Jul 17, 2022


คำถามที่เกิดขึ้นในใจหลายคนตอนนี้คือ Lazada ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อกระบวนการผลิตคลิปและภาพที่กระทบกับความรู้สึกของคนไทยอันนั้นจริงหรือ? . เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า เมื่อแบรนด์สินค้าและบริการต้องการสื่อสารการตลาดเพื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือด้วยจุดประสงค์ทางการตลาดใดก็ตามที จะต้องประชุมร่วมกันกับมีเดียเอเจนซี่และทีมผู้ผลิต (Production House) เสมอ เพราะเกี่ยวข้องกับสัญญา เอกสารการว่าจ้าง เงื่อนไขการชำระเงิน ซึ่งแต่ละแผนกก็มีงบประมาณที่ได้รับจัดสรรแตกต่างกันออกไป โดยผู้บริหารแผนกนั้นๆ ดูแลรับผิดชอบ . เกี่ยวข้องตั้งแต่การวางแผนสื่อ การวางกลยุทธ์ในการสื่อสาร ไปจนถึงการวางแผนการผลิต . ยิ่งเป็นแบรนด์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada ด้วยแล้ว ยิ่งน่าคิดว่า ทางผู้อำนวยการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ หรือกระทั่งผู้ประสานงานของ Lazada จะไม่เคยประชุม พูดคุย ส่งข้อความ ตอบอีเมล หรือโทรศัพท์กับทั้งมีเดียเอเจนซี่หรือทีมผู้ผลิตเพื่อรับทราบคอนเทนต์ที่จะเผยแพร่บนแพลตฟอร์มตัวเอง จริงหรือ? . คือว่าจ้างเขา ให้เขาคิด เขาทำกันเอง ใช้แบรนด์ตัวเองทำกิจกรรม โดยที่ไม่รู้สักนิดว่าเขาจะทำอะไร เป็นไปได้จริงหรือ? . พอเห็นหนังสือชี้แจงต่อสาธารณชนของ Lazada ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเกิดข้อสงสัย เพราะชี้แจง ’ช้า’กว่าที่ควรจะเป็นสำหรับการบริหารจัดการวิกฤติ (Crisis Management) หรือเป็นไปได้ที่ตัวแบรนด์เองไม่คิดว่านี่เป็นปัญหา ไม่เป็นวิกฤติ ทำนองว่า ‘ก็ไม่เห็นมีอะไรนี่นา’ . เอกสารชี้แจง ออกตัวชัดเจนว่าไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และบอกว่า บริษัทผู้ผลิต เขาโพสต์ลงขอโทษแล้ว โปรดคลิกลิงค์อ่าน ทำนองนั้น . เป็นไปได้จริงหรือ? . เพราะการนำเสนอคอนเทนต์นั้นไม่ได้พูดถึงแบรนด์ Lazada หรอกหรือ? ไม่ได้เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Lazada หรอกหรือ? ชี้แจงทำนองว่า มีคนเข้ามาใช้ห้องส้วมในบ้านตอนไหนก็ไม่รู้ ไม่ยอมกดชักโครก แต่ตอนนี้ออกไปแล้ว เจ้าของบ้านไม่รู้เรื่องจริงๆ ทั้งที่นอนอยู่ตรงโซฟา แบบนั้นหรือ? . ถ้าไปอ่านต่อที่การชี้แจงของผู้ผลิต ก็ไม่ได้ยอมรับด้วยว่าเป็นผู้คิด ผู้ทำแต่เป็นเพียง “ผู้ประสานงาน” เท่านั้น ยิ่งเกิดข้อสังสัยว่า แล้วตกลงเรื่องนี้ใครเป็นต้นคิด? จู่ๆ อินฟลูเอนเซอร์ทั้งสามคนติดต่อขอเข้ามาทำเอง เสนอไอเดียเอง อยากทำอะไรก็ทำเองตามใจชอบ แบบนั้นหรือ? เห็นชัดเจนว่าทั้ง Lazada มีเดียเอเจนซี่และผู้ผลิตคอนเทนต์ ไม่รับผิดชอบและปล่อยให้กระแสโจมตีตกไปอยู่ที่อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นเองเต็มๆ . ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างสมบูรณ์ . นี่ไม่ใช่งานจ้างหรอกหรือ? อย่างนี้เรียกรับชอบไม่รับผิดหรือเปล่า? . สิ่งที่น่าคิดคือ Lazada ในฐานะแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่มีผลกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย กำลังดูถูกความคิดอ่านของคนไทยอยู่หรือเปล่า? . คิดแต่ว่าทำการตลาด สื่อสารการตลาดในประเทศไทยทำยังไงก็ได้ขอให้ตลกโปกฮา ขอให้คนดูเยอะๆ ขอให้แหวกแนว ขอให้โดนใจ ขอให้สะใจ ทำอย่างไร ด้วยวิธีไหนก็ได้ ขอให้คนสนใจก็พอ เพราะคิดว่าคนดูชาวไทยไม่คิดอะไรมาก หรือก็คิดอย่างที่ตัวเองคิด จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น . แบบนี้ถือว่าพร่องเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethic)หรือไม่? . ได้แต่หวังว่าจะเห็นแบรนด์ออกมาพูดหรือทำอะไรมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นับจากนี้ . ตอนนี้มีกระแส #แบนลาซาด้า ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องจากอารมณ์ของผู้คน แน่นอนว่านี่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางไปสักนิด เนื่องจากมีคนจำนวนมากเปิดร้าน ขายของหารายได้อยู่บนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่นี้ ถ้าผู้บริโภคต่างพากันลบแอปพลิเคชั่น ไม่ใช้งาน ก็อาจเกิดผลกระทบระยะสั้น พอเวลาผ่านไปก็กระตุ้นยอดขาย กระตุ้นให้คนดาวน์โหลดกลับมาใช้งานได้อยู่ดี . สิ่งที่ควรผลักดันและทำได้มากขึ้น คือเรื่องการตรวจสอบรายได้ กระบวนการทางภาษีที่เกิดและสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้ต่างหาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะเร่งทำ เพื่ออย่างน้อยที่สุดเม็ดเงินของกิจกรรมทางธุรกิจที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย ก็ควรจะต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยในฐานะผู้อำนวยความสะดวกผ่านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่นำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่านี้ . Lazada หาเงินกับคนไทยได้ปีละเท่าไหร่? แล้วเสียภาษีปีละเท่าไหร่? ใครรู้บ้าง? . นี่เป็นบทเรียนของการสื่อสารการตลาดอีกกรณีหนึ่ง ที่บอกกับคนในโลกธุรกิจว่าจะใช้กรอบความคิด ‘โนสน โนแคร์’ อย่างที่ชอบพูดกันไม่ได้ และอย่าดูถูกความคิดอ่านของผู้บริโภคชาวไทยกันขนาดนี้ . ไม่เคยมีแบรนด์ไหนที่ขาดจริยธรรมแล้วเติบโตได้อย่างยั่งยืนเลย

23 views0 comments

Comments


bottom of page