top of page
  • Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

จดหมายถึงการบินไทยจากใจผู้โดยสารคนหนึ่งที่หวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลง

Updated: Aug 10, 2020



ถึง การบินไทยที่รักของผม

คุณเป็นรักแรก เป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของคนวัยมิลเลนเนียลอย่างผมและผู้สูงวัยขึ้นไป ผมยังจำได้ดีกับภาพลักษณ์ของสายการบินที่ดีที่สุดในโลก ภาพยนตร์โฆษณาอันลือลั่นที่มีหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์เป็นพระเอกโฆษณา ตอกย้ำการเป็นสายการบินที่ตรงเวลาที่สุดในปี 2539 ยังติดตามาจนถึงทุกวันนี้ การเดินทางโดยเครื่องบินของการบินไทยถือเป็นความภาคภูมิใจครั้งสำคัญของชีวิต ความหรูหราเหนือระดับและบริการที่ดีเยี่ยมจากลูกเรือถือเป็นเครื่องการันตีสุดยอดประสบการณ์ให้เอาไปคุยโวได้นานสองนาน และความสวยของแอร์โฮสเตสการบินไทยเป็นที่เลื่องลือและผู้โดยสารก็มักจะขอถ่ายรูปด้วยเสมอเมื่อขึ้นเครื่อง เป็นภาพจำที่เห็นจนชินตา


แต่เมื่อเทียบวันนี้กับวันนั้น คุณดูเปลี่ยนไปมากทีเดียว   


จากงบการเงินที่คุณรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช่ ผมจำหุ้น THAI ได้ดีและจำได้ว่าคุณขาดทุนหลักหมื่นล้านบาทมาสองปีติดกันแล้ว ปี 2562 ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 1.16 หมื่นล้านบาท ก่อนหน้านั้นปี 2560 ก็ขาดทุน 2.1 พันล้านบาท จะมีปี 2559 ที่มีกำไรแค่ 15 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับรายได้เกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปีของการบินไทย เรียกว่าเท่าทุนหรือแทบไม่มีกำไรเลยจะดีกว่า สมการง่ายๆของการทำธุรกิจคือ ตัวเลขกำไร/ขาดทุนมาจากรายได้หักด้วยต้นทุน ตัวเลขผลประกอบการที่น่าเป็นห่วงขนาดนี้ ก็ทำให้ผมและคนที่คอยติดตามข่าวคราวของคุณอดสังสัยไม่ได้กับสิ่งที่เป็นอยู่


เกิดอะไรขึ้นกับต้นทุนของคุณ?


เกิดอะไรขึ้นกับราคาขายของคุณ?


เกิดอะไรขึ้นกับการบริหารจัดการของคุณ?


และตัวคุณเองรู้คำตอบจริงๆหรือเปล่า?

ผมลองตรวจสอบงบการเงินปี 2562 ของคุณและพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นทุนของคุณลดลงถึง 5.4 พันล้านบาทคือราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกองค์กรและเกิดขึ้นทั่วโลก ส่วนสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจของการบินไทยไปได้ไม่สวยคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เงินบาทที่แข็งค่าในรอบ 6 ปี ภัยธรรมชาติ หรือกระทั่งการปิดน่านฟ้าของบางประเทศ  เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยนอกนอกองค์กรเช่นกัน มีเพียงข้อความสั้นๆ ที่คุณชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ว่า “การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง” เท่านั้นที่พอจะเกี่ยวกับตัวคุณเองบ้าง


ทำไมจึงไม่เล่าเรื่องภายในองค์กรของคุณเอง ไม่เล่าเรื่องความพยายามอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการธุรกิจของการบินไทยบ้าง? ปัจจัยภายในที่เป็นอยู่ไม่มีนัยสำคัญเลยหรือ และการกล่าวถึงการแข่งขันด้านราคานั้นเป็นการยอมรับกลายๆ หรือเปล่าว่าจุดขายด้านแบรนด์ ความพรีเมี่ยมหรือสิ่งพิเศษที่โดดเด่นจากการบริการของการบินไทย ไม่ใช่จุดขายที่แข็งแรงมากพอที่จะจูงในลูกค้าของคุณได้อีกต่อไปหรือไม่


ตกลงตลาดของคุณอยู่ตรงไหนกันแน่?


สิ่งที่ทำให้ผมตกใจคือกรณีของคุณสุเมธ ดำรงชัยธรรม ที่ยื่นลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หรือดีดีของการบินไทย หลังจากเพิ่งจะเข้ามาบริหารงานได้เพียง 18 เดือนเท่านั้น ที่ผมยังคาใจคือข้อความทิ้งท้ายของคุณสุเมธที่บอกว่า “ผู้มีอำนาจบอกว่าหมดเวลา” มันหมายถึงอะไรกันแน่ และเรื่องนี้แม้จะไม่เหนือความคาดหมายของผมและคนส่วนใหญ่เพราะตำแหน่งดีดีของการบินไทยถือเป็นเก้าอี้ร้อนที่ใครก็นั่งได้ไม่นานและมีน้อยรายที่จะได้ลงจากหลังเสือได้อย่างสง่างาม แต่ผมคิดว่าการเปลี่ยนแม่ทัพธุรกิจในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ถือว่ามีผลต่อขวัญและกำลังใจของคนในองค์กรพอสมควร


ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นเพียงสัปดาห์เดียวหลังจากที่กระทรวงคมนาคมตีกลับแผนขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการค้ำประกันเงินกู้วงเงินสูงถึง 5 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ทางคุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงก็ยังติงว่าแผนที่การบินไทยเสนอไปนั้นไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน โดยเฉพาะแผนการปรับลดค่าใช้จ่ายที่สูงมากถึง 1.3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน รัฐบาลจึงยังไม่เห็นทางว่าการบินไทยจะฟื้นฟูกิจการของตนเองขึ้นมาได้อย่างไร 


คุณขอความช่วยเหลือเป็นเงินก้อนโตโดยที่ไม่มีแผนที่ชัดเจนจริงหรือ?


เอาล่ะ เรื่องราวของคุณสุเมธกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือตอนนี้ผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่อสายการบินทั่วโลกมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเราอาจจะได้เห็นหลายแบรนด์เข้าสู่ภาวะล้มละลายในปีนี้ ขณะที่การบินไทยก็ลดเที่ยวบินในจุดหมายปลายทางสำคัญลงถึง 50 เปอร์เซนต์ นั่นคือรายได้ที่น้อยกว่ารายจ่ายในแต่ละเดือนอยู่แล้ว และจะหดตัวลงไปถึงครึ่งหนึ่ง จาก 1 หมื่นล้านบาทจะลดลงไปเป็น 5 พันล้านบาท อาจจะติดลบมากขึ้นถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ผมเริ่มได้ยินข่าวเรื่องการฟื้นฟูกิจการหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงการขอพักและ/หรือเลื่อนนัดชำระหนี้กับเจ้าหนี้ออกไป ยังไม่นับรวมมาตรการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น THAI  ซึ่งมีกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำกับอยู่ด้วย


ทางออกของคุณ ทางออกของสายการบินแห่งชาติที่หลายคนเคยภูมิใจยังมีอยู่หรือไม่? 


ผมและทีมงานของ The Momentum มีโอกาสได้พบกับคุณบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการบริษัทของการบินไทยในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุเปอร์บอร์ดในรัฐบาลประยุทธ์ 1 เราดำดิ่งไปกับบทสนทนาและหลายเรื่องราวเกี่ยวกับการบินไทยที่ทำให้ผมทั้งทึ่ง ปลาบปลื้ม และกังวลใจมากขึ้น บางเรื่องผมก็ไม่สามารถเขียนบอกคุณได้ผ่านจดหมายฉบับนี้ คุณบรรยงยังพูดถึงคุณในทางที่ดี บอกด้วยว่า ในบรรดารัฐวิสาหกิจทั้งหลาย มีการบินไทยที่ลำบากกว่าเพื่อนเพราะต้องอยู่ในตลาดที่แข่งขัน ไม่เหมือนกับรัฐวิสาหกิจรายอื่นๆ ที่ผูกขาดธุรกิจสำคัญ ไม่ต้องแข่งกับใคร ดังนั้นคนการบินไทยจึงถือว่าเป็นหัวกะทิกลุ่มหนึ่งแล้วล่ะ


แต่มันก็ยังไม่พอสำหรับธุรกิจที่แข่งขันยากที่สุดในโลกอย่างสายการบิน


ผมถามคุณบรรยงว่า ถ้ามีมาตรการหรือการเปลี่ยนแปลงที่สามารถทำได้จริงและทันทีสำหรับการบินไทยเพื่อฝ่าวิกฤตครั้งใหญ่นี้สัก 3 ข้อ คิดว่าจะแนะนำคุณอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร และนี่คือคำแนะนำจากคุณบรรยงในฐานะคนคุ้นเคย ที่ผมอยากให้คุณลองเปิดใจและพิจารณาทั้ง 3 ข้อ ดังนี้ 


1. “ปรับโครงสร้างกรรมการให้พ้นจากการครอบงำของข้าราชการและนักการเมือง โดยให้ประธานกรรมการเป็นมืออาชีพที่มาจากภาคเอกชน”


คุณบรรยงเล่าว่า ตำแหน่งดีดีของการบินไทยนั้นมีข้อจำกัดในการสรรหาอย่างมาก เนื่องจากต้องเป็นผู้บริหารองค์กรที่ไม่ได้มีผลประโยชน์กับการบินไทย นั่นหมายถึงบรรดาซัพพลายเออร์และลูกค้าที่มีการซื้อขายหรือมีธุรกรรมกับการบินไทยตามที่กำหนดเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว องค์กรขนาดใหญ่หรือบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ต่างก็เป็นลูกค้าของการบินไทยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบินของผู้บริหารและพนักงานสำหรับการเดินทาง หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบินไทยที่ใครๆ ก็ซื้อหาได้ จึงหาผู้บริหารมืออาชีพที่คุ้นเคยกับโลกธุรกิจและผ่านคุณสมบัติดังกล่าวได้ยาก ดีดีหลายคนในช่วงที่ผ่านมาจึงเข้าเกณฑ์ ‘ถูกต้อง’ มากกว่า ‘ถูกใจ’


ใช่หรือไม่? 


สำหรับโครงสร้างบอร์ดการบินไทยและประธานบอร์ดนั้น เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 51% ปลัดหรือข้าราชการจากกระทรวงการคลังจึงเข้ามานั่งเป็นประธานบอร์ดและกรรมการโดยปริยาย กระบวนการในการคัดเลือกผู้บริหาร ตลอดจนขั้นตอนต่างๆ ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญขององค์กรก็จะถูกกำหนดโดยข้าราชการ ซึ่งคุณบรรยงเห็นว่า ข้าราชการที่มีอำนาจบริหารจัดการงานของภาครัฐไม่สมควรที่จะเข้ามาบริหารธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับภาคเอกชนอย่างการบินไทย ตัวเขาสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) อยู่แล้วเพื่อเปิดทางให้มืออาชีพจากโลกธุรกิจเข้ามาบริหารจัดการและมีอำนาจตัดสินใจ

ใครถนัดอะไรก็ให้เขาทำสิ่งนั้นจะดีกว่า


คุณบรรยงย้ำกับผมว่า ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด หากไม่สามารถปลดล็อกเรื่องโครงสร้างผู้บริหารการบินไทยได้ ข้ออื่นๆ ก็ยากจะเกิด และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สายการบินแห่งชาติจะพยุงตัวเองให้ขึ้นมาจากหล่มได้


2. “รื้อโครงสร้างเกี่ยวการจัดซื้อจัดจ้าง (procurement) และการกำหนดยุทธศาสตร์ (strategy)​ ใหม่ทั้งหมด โดยอาศัยคำแนะนำจากที่ปรึกษา (consultant)” และ 3.  “หา strategic partner โดยให้พาร์ทเนอร์ถือหุ้นอย่างน้อย 40 เปอร์เซนต์ และมีอำนาจบริหารในฝ่ายช่าง ฝ่ายคาร์โก ฝ่ายครัว และฝ่ายบริการภาคพื้น”


คุณก็รู้ดีว่าเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทยนั้นเป็นที่พูดถึงในวงการธุรกิจมานานแล้ว ทั้งความเหมาะสมของเครื่องบินกับเส้นทาง ตลอดจนกระบวนการซื้อเครื่องบินลำใหม่ที่จะต้องผ่าน ‘ตัวกลาง’ ซึ่งอาจทำให้การบินไทยไม่สามารถบริหารจัดการเพื่อผลประโยชน์สูงสุดขององค์กรได้ หากปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารได้จริงแล้วเชื่อว่าจะสามารถตัดสินใจเรื่องดังกล่าวได้ชัดเจนมากขึ้น คุณบรรยงบอกว่า ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทางธุรกิจของการบินไทยควรปรับปรุงใหม่ทั้งหมด และเมื่อเปิดทางให้เอกชนรายอื่นเข้ามาช่วยบริหารในลักษณะคู่ค้ากลยุทธ์หรือ Strategic Partner ก็จะได้อาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญในการดำเนินการธุรกิจสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมาพัฒนาการบินไทย


เขาว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ที่คุณจะตัดหรือแบ่งส่วนงานที่คู่ค้ากลยุทธ์ทำได้ดีกว่าออกไปให้จัดการ แต่ละส่วนสามารถแยกดำเนินการอย่างเป็นระบบได้ทั้งฝ่ายช่างซ่อมบำรุงซึ่งปัจจุบันการบินไทยมีอัตราส่วนจำนวนช่างต่อเครื่องบินหนึ่งลำมากถึง 40 คน ขณะที่สายการบินอื่นๆ จะใช้ช่างเพียง 10 คนเท่านั้น เช่นเดียวกับฝ่ายคาร์โก ฝ่ายครัวและฝ่ายบริการภาคพื้นที่การบินไทย ควรจะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการเป็นพันธมิตรของ Star Alliance มากกว่านี้ รวมทั้งการปรับเส้นทางการบินที่ไม่ทำกำไรออกและสนับสนุนให้ผู้โดยสารไปต่อเครื่องกับสายการบินอื่นเพื่อลดต้นทุนและสร้างโอกาสในการขายตั๋วเครื่องบินในราคาที่แข่งขันได้มากขึ้น


คุณมีคนเยอะเกินไป


ต้นทุนของคุณสูงเกินไป 


คุณบรรยงยังเชื่อว่าทางออกของการบินไทยยังมีอยู่มากกว่าการแช่แข็งตัวเองเพื่อนำไปสู่กระบวนการของการล้มละลาย หากผู้มีอำนาจมองประโยชน์ขององค์กรซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด สินทรัพย์ที่มี รวมทั้งความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่คุณมีถือว่ามีมูลค่าอยู่สูงมาก และมากพอที่จะดึงดูดให้มืออาชีพและพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเจรจาเพื่อที่จะช่วยพากันไปข้างหน้าต่อได้เสมอ


อยู่ที่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้น


ทำก็เพราะมีเหตุผลให้ทำ


ไม่ทำก็คงเพราะมีเหตุผลให้ไม่ทำนั่นล่ะ


“แผนทั้งหมดพวกผมทำเสนอไปตั้งแต่ตอนเป็นซุเปอร์บอร์ดแล้ว” เขาบอก


ผมร่ำลาคุณบรรยงและเดินจากมา ตั้งใจจะเขียนจดหมายฉบับนี้หาคุณในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ผู้โดยสารคนหนึ่ง ลูกค้าคนหนึ่งที่ยังรักและผูกพันกับการบินไทยด้วยใจจริง ที่ผ่านมาก็น้อยใจอยู่บ่อยครั้งกับการบริการที่ได้รับรวมทั้งการติดต่อกับ Call Center และหลายๆ กิจธุระที่ผมยังต้อง ‘ส่งแฟ็กซ์’ ไปหาคุณ อย่างเช่นกรณีที่ผมลืมรหัสสมาชิกก็ตามที กระนั้น ผมก็ยังมีความหวังที่จะเห็นคุณกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เป็นคนใหม่และทำให้คนไทยภูมิใจ เพราะชื่อ ‘การบินไทย’ เป็นไม่กี่แบรนด์ของประเทศที่สามารถก้าวไปสู่การเป็น Global Brand แบบนี้ได้ ผมว่าคุณเป็น ‘คนเคยสำเร็จ’ มานานเกินไปแล้วและควรจะต้องทำอะไรสักอย่างเสียที


เย็นวันที่ 19 มีนาคม 2563 เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดทำการซื้อขาย ผมมองตัวเลขราคาหุ้นของการบินไทยหรือ THAI อยู่ที่ 2.98 บาทต่อหุ้นแล้วก็ใจหาย ดูเหมือนนักลงทุนยังขายหุ้นของคุณอย่างต่อเนื่อง ไม่น่าเชื่อว่าจะได้เห็นองค์กรที่มีสินทรัพย์มากถึง 2.6 แสนล้าน (แต่หนี้สินก็สูงเท่ากับทรัพย์สินที่มี) ราคาหุ้นเคยพุ่งแตะ 60 บาทต่อหุ้นอย่างการบินไทยมีวันนี้ วันที่ราคาหุ้นเหลือไม่ถึง 3 บาทและเป็นปีที่ 4 แล้วที่คุณงดจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นเพราะว่าขาดทุนถล่มทลายอย่างต่อเนื่อง 


ผมยังเชื่อว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นกับคุณในเร็ววันนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขอเอาใจช่วยและหวังว่าคุณจะผ่านวันที่ยากลำบากเหล่านี้ไปได้ด้วยดี แต่โลกธุรกิจสมัยนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีพื้นที่เหลือให้คนที่ปรับตัวช้าอีกต่อไป ในฐานะสายการบินแห่งชาติ คุณควรจะเป็นหนึ่งในหลักชัยที่มั่นคงและน่าภูมิใจของคนไทยนับจากนี้และในอนาคต ไม่ใช่ตำนานการบินที่จะกลายเป็นเพียงอดีตที่มิอาจหวนคืน


วันพรุ่งนี้มีอยู่เสมอ


แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เห็นมัน


ด้วยรักและความปราถนาดี


เล็ก มนต์ชัย




 

ดูข่าวต้นฉบับ: https://themomentum.co/letter-to-thai-airways/

16 views0 comments
bottom of page