top of page
  • Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

เช้าวันจันทร์ที่โรงพยาบาลศิริราชจะทำให้คุณมองโลกไม่เหมือนเดิม



หากมีโอกาส ผมอยากให้ลองไปที่โรงพยาบาลศิริราช ช่วงเช้าวันจันทร์ดูครับ

.

เพราะจะมีแต่ความโกลาหล วุ่นวาย มีผู้ป่วยในสภาพทั้งยืน นั่ง และนอนเต็มแทบจะทุกตารางนิ้วในอาคารผู้ป่วยนอก แน่นอนว่า คนมีความสุขดีคงไม่มาโรงพยาบาลหรอก มีแต่คนที่ไม่สบายกาย ไม่สบายใจมารวมตัวกันทั้งนั้น

.

บรรยากาศจึงค่อนข้างตึงเครียดระคนหม่นหมอง

.

เขียนมาถึงตรงนี้ ต้องการช่วยพูดแทนโรงพยาบาลอีกเสียงว่า บุคลากรที่นี่ทำงานหนักกันมากจริงๆ ตั้งแต่หมอ พยาบาล ผู้ช่วย เจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ยามที่คอยโบกรถ เพราะคนมาใช้บริการเกินกว่าจุดที่ควรจะเป็นมานานแล้ว

.

โรงพยาบาลศิริราชเป็นหนึ่งในโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดและยังเป็นที่พึ่งของผู้ยากไร้จำนวนมหาศาล ที่หวังมาพึ่งหมอเก่งๆ ด้วยทุนทรัพย์เท่าที่มี

.

ลืมภาพทางเดินสวยงาม พนักงานต้อนรับในเครื่องแบบเก๋ๆที่เราเห็นจากโรงพยาบาลเอกชนได้เลย เพราะมันไม่ใช่แก่นแท้ของที่นี่ ตอนแรกผมไม่เข้าใจว่าทำไมพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่บางคนต้องดุกับคนที่มาสอบถามด้วย แต่พอมาใช้บริการบ่อยๆก็เข้าใจว่า เขาต้องตอบคำถามเดิมซ้ำๆ มาตั้งแต่ตีสี่ แทบไม่ได้พัก ไหนจะความสลับซับซ้อนของระบบและเอกสารอีก

.

น่าเห็นใจ

.

สิ่งที่สอนผมได้มากคือ บรรดาผู้ป่วยนี่ล่ะ โดยเฉพาะแผนกเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่พ่อของผมรักษาอยู่ มีผู้ป่วยเยอะมากทั้งคนหนุ่ม คนแก่ บางคนสภาพหนักหนามากจนผมอดสงสัยไม่ได้ว่าเขาเดินทางมาโรงพยาบาลคนเดียวได้อย่างไรกัน

.

ภาพผู้สูงอายุร้องโอยๆ บนเปลนอน(เตียงรถเข็น)เป็นหลายสิบชีวิตหรือบางคนก็อยู่ในสภาพไม่ได้สติฉายซ้ำไปซ้ำมาทุกครั้งที่ผมมาหาหมอในเช้าวันจันทร์ ที่โรงพยาบาลศิริราช

.

คนป่วยเยอะมากจริงๆ

.

บางครั้งผมก็เห็นคนไข้โดนญาติพามาทิ้งที่โรงพยาบาล หรือต้องนอนเจ็บปวดอยู่อย่างนั้น เพราะเจ้าหน้าที่ตามหาตัวญาติไม่เจอ ทำให้ดำเนินการขั้นต่อไปไม่ได้ แต่ละคนสภาพน่าสงสารมาก

.

หลายคนนึกภาพไม่ออกและอาจย้อนถามผมกลับมาว่า "เรื่องแบบนี้มีจริงด้วยหรือ?"

.

มันมีจริงๆ

.

จุดประสงค์ที่ผมอยากชวนทุกคนไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลศิริราชในเช้าวันจันทร์ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ไปดูว่าบุคลากรที่นี่เหนื่อยขนาดไหน ไม่ใช่เพียงเพื่อให้บริจาคเงินเข้าศิริราชมูลนิธิ ไม่ใช่เพียงเพื่อไปดูภาพเวทนาให้เศร้าใจเล่นๆหรอก

.

แต่อยากให้ไปเห็นว่า มันมีคนอีกมากที่เขาดิ้นรนด้วยทุกลมหายใจที่มี เพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

.

คุณลุง คุณยาย เด็กทารก ผู้ป่วยวิกฤติ ทุกคนกระเสือกกระสนเพื่อจะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปทั้งนั้น

.

เหตุการณ์ที่ผมจำไม่ลืมเลยคือ หมอมาคุยกับคนไข้ที่ผอมแห้ง นั่งบนรถเข็น ตัวเหลือง ตาโหล บอกกับเขาว่าผลเลือดไม่ผ่าน ให้ยาไม่ได้ อาการของเขาทำอะไรไม่ได้แล้ว ให้กลับบ้านไปพักและทำอะไรที่อยากทำเถอะ

.

คนได้ยินกันทั้งชั้น

.

พี่คนนั้น เขายังพยายามขอร้องหมอเลยว่า มันจะพอมีทางทำอะไรอีกได้บ้างมั้ย เขายังไม่อยากตาย

.

เขาอยากมีชีวิตต่อไป

.

ทุกครั้งที่ผมนำผลเลือดของพ่อมาปรึกษาหมอ ผมต้องเผื่อเวลาไว้4-5 ชั่วโมงเพื่อได้คุยกับหมอเพียง 3 นาที ทุกคนก็ทำแบบนั้น เพราะจำนวนผู้ป่วยมะเร็งมีเป็นร้อยคนต่อหมอเพียงหนึ่งท่าน

.

มันเป็นแบบนี้แหละ

.

ดังนั้น ถ้าใครรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแย่ หรือกำลังดำดิ่งกับช่วงที่ยากลำบากที่สุด (Darkest Hour) ผมอยากให้แวะมาที่โรงพยาบาลศิริราช ช่วงวันจันทร์เช้าครับ

.

ไม่ใช่ให้มาดูชีวิตคนอื่นที่แย่กว่าเพื่อจะได้สบายใจหรอกนะ แต่อยากให้มาดูสายตาของพวกเขา จังหวะตอนที่หายใจ หรือกระทั่งน้ำตาของญาติบางคนที่หลบมาคุยโทรศัพท์ไม่ให้ผู้ป่วยรู้

.

ทุกคนสู้หมดเลย

.

แล้วเราจะยอมแพ้เกมของชีวิตไปทำไม?

.

เล็ก-มนต์ชัย

11 ก.ค. 2566

.

7 views0 comments
bottom of page