top of page
  • Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

เศรษฐกิจกุมขมับ ถึงเวลาอัดงบคลังเพิ่มก่อนจะเกินเยียวยา


.

ประเทศไทยเราต้องใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับไปจุดเดิมก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครับ นี่คือพูดกันในเชิงตัวเลขนะครับ ถึงตอนนั้นประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่เขาใช้เวลาไม่ถึง 2ปี ก็คงเร่งสร้างอะไรต่อมิอะไรเพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันของโลกยุคใหม่ไปไกลพอควรแล้ว

.

จากข้อมูลของสภาพัฒน์เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ทั้งปีโต 0.7-1.2% เท่านั้น ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าปี 2563 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราขยายตัวติดลบ (หดตัว) ถึง 6.1% เลยนะครับ ดังนั้นจากตัวเลขล่าสุดของสภาพัฒน์ดูเหมือนช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญอยู่คือช่วงที่ยากลำบากมากที่สุดอีกปีอย่างไม่ต้องสงสัย ล่าสุดทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสิ้นปี 2564 เศรษฐกิจบ้านเราน่าจะเติบโตติดลบที่ -0.5% ด้วยซ้ำไป

.

ปีนี้แย่กว่าปีที่ผ่านมา

.

ผมมีโอกาสฟังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 'ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ' พูดกับนักข่าวเมื่อเร็วๆนี้ โดยบอกว่าผลกระทบจากโรคโควิด-19 จะยังปั่นป่วนชีวิตคนไทยต่อเนื่องไปถึงปี 2565 อีกทั้งปี ถ้าดูตัวเลขเม็ดเงินที่หายไปจากระบบซึ่งวัดจากการจ้างงานของทั้งสามปีที่เราต้องเจอกับวิกฤตินี้ (2563-2565) เท่ากับ 2.6 ล้านล้านบาท ถือว่าเยอะมากเลยครับ เพราะเงินจำนวนเท่านี้ถ้าลองคิดเรื่องการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ คนได้รับค่าจ้างก้ไปซื้อสินค้า คนขายของก็เอารายได้ไปจ่ายค่าวัตถุดิบ จ่ายต่อกันไปเป็นทอดๆได้อีกมากขนาดไหน

.

แต่มันกลับหายไป

.

ภาคการส่งออกคือความหวังเดียวที่รับภาระอย่างหนักในการขับเคลื่อนประเทศครับ แม้ไตรมาสที่ 2/2564 จะเติบโตมากกว่า 20% แต่ก็มาจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่บ้านเขากระจายวัคซีนที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รีบกลับมาเปิดเมืองเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ เพราะภาคบริการเป็นหัวใจสำคัญของการจ้างงานคนในประเทศครับ

.

ภาคการส่งออกของไทยสร้างการจ้างงาน 8% เนื่องจากมีเครื่องจักรและการลงทุนที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต ขณะที่ภาคบริการสร้างการจ้างงานที่ 52% นะครับ ร้านอาหาร โรงแรม ธุรกิจบริการก็ต้องใช้คนทั้งนั้น ซึ่งพนักงานเหล่านี้หลายคนก็เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลชีวิตอีกหลายปากด้วยกัน

.

ชัดเจนมากว่า เรารอให้ภาคการส่งออกดันเศรษฐกิจเพียงลำพังไม่ได้แน่ๆ

.

ทางผู้ว่าแบงก์ชาติก็เลยพูดอย่างตรงไปตรงมาครับว่ารัฐบาลควรใช้มาตรการทางการคลังให้มากกว่านี้ ต้องใช้เงินเยอะและต้องทำให้เร็วด้วย เหมือนกับต่างประเทศที่รัฐบาลเขาอัดฉีด ให้เงินโดยตรงไปที่ประชาชนได้เลย ซึ่งจำเป็นอย่างมากในตอนนี้ที่จะช่วยให้ร้านค้าไม่ปิดตัว คนยังมีงานทำ เด็กๆยังมีข้าวกินครับ ที่มาของเงินก็น่าจะเป็นเงินกู้(หนี้สาธารณะที่คนไทยทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ) ซึ่งตอนนี้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค อ้างอิงจากผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลไทยที่อยู่ราว 1.6%

.

ยกตัวอย่างง่ายๆคือ ถ้ารัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะของประเทศจะแตะ 70% ของ GDP แม้ว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ก็เป็นกันทั่วโลกนะครับ หลายประเทศเลยที่ตัวเลขนี้สูงกว่า 100% ไปมาก แต่เขาก็ทำเพราะว่าเดิมพันนี้แพ้ไม่ได้ ยังไงชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจชาติก็ต้องไปต่อครับ

.

คือสถานะทางการเงินและการคลังของไทยยังดีครับ ไม่ต้องห่วงว่าคนจะไม่ซื้อพันธบัตร หรือหาเงินกู้ยืมไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายที่ตรงจุด การจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทันท่วงทีและโปร่งใสนี่ล่ะครับ

.

ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่ากู้ตอนนี้ดีกว่ารอให้ประเทศแย่ลงๆแล้วไปกู้เอาวันข้างหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เพราะถ้าทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินได้ คนกลับมาทำงาน ใช้จ่าย รายได้จากการจัดเก็บภาษีก็จะสูงขึ้นตามและช่วยลดตัวเลขหนี้สาธารณะลงมาได้ แต่ถ้าปล่อยให้อาการแย่ลง ตอนนั้นอาจต้องใช้เงินเยอะขึ้น ต้นทุนทางการเงินมากขึ้นเพื่อฉุดรั้งประเทศขึ้นมา

.

หนี้สาธารณะจะอยู่ในระดับสูงไปอีกนาน นี่คือความจริงที่เราต้องยอมรับ ซึ่งเชื่อว่าเราจะยอมรับได้ถ้าปากท้องของคนไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้

.

ส่วนมาตรการทางการเงิน แบงก์ชาติก็ยังทำต่อไปครับทั้งเรื่องหนี้กับทั้งการสนับสนุนต่างๆเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้แต่การส่งผ่านนโยบายผ่านสถาบันการเงินอย่างเดียวในตอนนี้ คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก

.

โจทย์กลับมาที่ผู้บริหารประเทศนี่ล่ะครับ ว่าจะเอาอย่างไรต่อ เชื่อว่าคนทำงานก็คงเครียดและกุมขมับเหมือนในรูป แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ยาแรง ก็ต้องใช้

.

อย่างน้อย เมื่อมีชีวิตอยู่ต่อ ก็ยังมีวันพรุ่งนี้ครับ



71 views0 comments
bottom of page