top of page
  • Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

ความจริงที่เปราะบางของธุรกิจครอบครัว



ทำธุรกิจครอบครัวนี่ไม่ง่ายเลย

.

ผมมีโอกาสไปฟังงานสัมมนาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจแชร์มุมมองที่น่าสนใจ ได้ข้อสรุปที่ชัดมากคือ "ถ้าความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี ก็ยากที่ธุรกิจครอบครัวจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน"

.

ตัวผมเองไม่เคยเข้าใจ เพราะเป็นลูกพ่อค้าขายหมูแผงเล็กๆ ในตลาดสด พ่อบอกตั้งแต่เด็กให้เรียนสูงๆ จะได้ทำงานดีๆ ไม่ต้องมาขายหมูแบบพ่อกับแม่

.

ชัดเจนมากว่า ไม่ได้มีกิจการหรือมรดกอะไรจะให้ มีแต่การศึกษาและความพยายามที่ให้ได้ จบปริญญาตรีแล้วคือหมดหน้าที่ (เชิงการเงิน) พ่อกับแม่แล้ว

.

ทุกอย่างต้องทำเอง

.

ก็คิดมาตลอดว่าคนที่มีธุรกิจครอบครัวนี่สบายและโชคดีมาก เติบโตมาบนกองเงินกองทอง อยากไปแลกเปลี่ยนก็ได้ไป ไปเที่ยวต่างประเทศก็ได้ไป มีทุกอย่างที่อยากได้ เรียนจบมาก็ไม่ต้องไปสมัครงาน มีธุรกิจที่บ้านรองรับ....ดีจังเลย

.

คิดแล้วอิจฉาด้วยนะ

.

ที่ผมคิดแบบนั้น เพราะมองจากนอกรั้วบ้านหลังใหญ่ มองแบบคนที่ 'ไม่มี' มันก็นึกไม่ออกหรอกว่าคนที่มีเป็นอย่างไร

.

พอโตขึ้นมา ก็เจอเรื่องที่น่าสงสัยอยู่บ่อยครั้ง มีเพื่อนหลายคนที่ถอนตัวจากธุรกิจครอบครัว ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ (อ้าว! นั่นตำแหน่งผู้บริหารเลยนี่นา) และออกมาทำธุรกิจของตัวเอง บางคนก็กลับไปทำงานประจำ ทำให้ผมสงสัยว่าอยู่สบายดีๆ อยู่แล้ว ทำไมต้องออกมาลำบากเองด้วย

.

ผมเจอคำตอบจากงานสัมมนาล่าสุดที่ไปมา ก็พบว่าปัญหาคือปัญหา คนรวยก็มีปัญหา คนไม่รวยก็มีปัญหา จะคิดง่ายๆ ว่า คนจนชีวิตมีแต่ปัญหา หรือคนรวยชีวิตไม่มีปัญหาแบบนั้นไม่ได้

.

พ่อแม่ที่ใจดีอาจจะไม่ใช่หัวหน้าที่ดีก็ได้ เช่นเดียวกัน ลูกที่น่ารักก็อาจเป็นลูกน้องหัวดื้อที่อยากจะไล่ออกแต่ก็ไล่ไม่ได้นี่ยังไม่นับรวมปัญหาเขย สะใภ้ ลูกพี่ลูกน้องอีก

.

เรื่องใหญ่ของธุรกิจครอบครัวทั่วไป คือ การเอาคนในครอบครัวมาทำธุรกิจทั้งที่เขาไม่ได้อยากจะทำหรือไม่เหมาะกับงาน หรือไม่มีความสามารถ แต่ก็ต้องหางานให้ทำ เพราะเป็นคนในครอบครัว ธุรกิจก็เลยยังไม่เป็นมืออาชีพ หนำซ้ำยังมีปัญหาเอาเงินธุรกิจไปใช้ส่วนตัว และอีกสารพัดเรื่องจากบัญชีสองเล่มอีก

.

รุ่น 1 พ่อแม่สร้าง หวังให้ลูกช่วยดูแล แต่พอลูก (รุ่น2) เติบโตมีครอบครัว ก็เริ่มมี"บ้านฉัน-บ้านเธอ" "ของกู-ของมึง" ไม่ได้มองว่าเป็นทีมเดียวกันอีกต่อไป ความสามัคคีก็เปราะบาง ส่งต่อความเสี่ยงไปที่รุ่น3 ซึ่งตีกันจะเป็นจะตายและจบที่ "ขายๆ ทิ้งไปแล้วเอาเงินมาแบ่งกัน จบ"

.

ทำธุรกิจครอบครัว ไม่ง่ายจริงๆด้วย

.

เรื่องตลกร้ายคือ พ่อแม่ผู้มั่งคั่ง ส่งเสียลูกไปเรียนเมืองนอกเมืองนา ลูกก็เรียนเก่ง ทำงานกับองค์กรข้ามชาติ เงินเดือนหลายแสนบาท บทจะเรียกกลับมาช่วยธุรกิจ ก็ไม่กลับมาแล้ว เพราะยังไงบริษัทตัวเองก็คงจ่ายให้ไม่ไหวเท่ากับที่หาได้เอง

.

ทำงานเมืองนอกได้เงินเดือน 3 แสนบาท กลับมาเมืองไทย นั่งตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายได้เงินเดือน 5 หมื่นบาท

.

ยังมีอีกสารพัดประเด็นที่ผมเก็บได้จากในวงการพูดคุย เอาล่ะ จะเรื่องตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เขียนธรรมนูญครอบครัวหรืออะไรก็ตามที ขึ้นกะวิถีของแต่ละบ้านเขา

.

ผมนึกกับตัวเองว่า การที่เราไม่ค่อยมีเงินก็มีมุมดีนะ คือถ้ามีเยอะ ก็ห่วง(หวง)เยอะ มีค่าเสียโอกาสกับต้นทุนจากจิตใจเยอะตามไปด้วย

.

ไม่สมหวัง = เป็นทุกข์

.

อีกประโยคหนึ่งที่ชอบมากจากงานนี้คือ "เงินหาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ความสัมพันธ์ที่แตกร้าวมันจะทำอะไรก็ยาก"

.

เรื่องคนต้องมาก่อนทุกอย่างเสมอ

.

#BizKlass #ธุรกิจครอบครัว

99 views0 comments

Comments


bottom of page