IN FOCUS
การส่งออกของไทยไปอินเดียในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 คิดเป็นมูลค่า 1.82 แสนล้านบาท แม้จะเป็นคู่ค้าอันดับ 10 แต่มูลค่าการค้ายังตามหลังตลาดจีนและอเมริกา 3-4 เท่าตัว ทั้งที่ประชากรอินเดียมีนับพันล้านคน เป็นรองก็แค่จีนเท่านั้น
นักวิชาการชี้ประเด็น คนไทยยังรู้จักตลาดอินเดียน้อย ผู้ประกอบการต้องการงานวิจัย การศึกษาและข้อมูลที่จำเป็นกับภาคธุรกิจมากขึ้น แนะนำไม่จำเป็นต้องบุกทั้งประเทศ ให้เจาะเฉพาะเมืองที่มีศักยภาพเท่านั้น
ในวันที่ทุกคนเฝ้าติดตามท่าทีที่กลับไปกลับมาคาดเดาได้ยากของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาและสีหน้าที่เรียบเฉย นิ่ง สุขุมของสีจิ้นผิง ผู้นำจีนในช่วงมหาสงครามการค้าครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกว่า 18 เดือนนี้ ดูเหมือนภูมิทัศน์การค้าโลกจะถูกตีกรอบให้เหลือเพียงแต่ ‘อเมริกาและจีน’ เท่านั้น และบรรดาชาติต่างๆ ในอาเซียน ร่วมทั้งประเทศไทยต่างก็กระดิกพลิกตัวได้ยาก เพราะเกมนี้ไม่มีใครสามารถเลือกข้างได้เลย
การขยายฐานธุรกิจในตลาดใหม่ๆ ดูจะเป็นทางออกที่เข้าท่ากว่า
ประเทศอินเดียเป็นอีกตลาดสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง ด้วยศักยภาพของขนาดประชากรนับพันล้านคน ที่เป็นรองเพียงจีนเท่านั้น และยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขนาดใหญ่ถึง 2.72 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 คิดเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก เป็นรองจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
“ถ้าค้าขายกับอินเดียง่าย ก็คงทำกันไปตั้งนานแล้ว”
ประโยคข้างต้นเป็นอคติเพราะเรารู้จักอินเดียน้อยเกินไป หรือแดนภารตะนี้เป็นพื้นที่ปราบเซียนจริงๆ?
The Momentum ตั้งใจจะหาคำตอบเรื่องดังกล่าว เพื่อสะท้อนมุมมองที่แท้จริงจากสิ่งที่เป็นอยู่ของการค้าระหว่างสองประเทศ ด้วยความหวังที่จะเป็นอีกแรงในการช่วยเล่าเรื่องให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าใจและมองเห็นโอกาสในภาวะเศรษฐกิจผันผวนแบบนี้
ส่องตลาดแดนภารตะ เมื่ออินเดียเตะถ่วงข้อตกลง RCEP
หากเปรียบเทียบตัวเลขการค้าในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา (มกราคม – กันยายน 2562) จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปที่อินเดียคิดเป็นมูลค่า 1.82 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.41% คิดเป็นสัดส่วน 3.1% ของการส่งออกทั้งหมด ถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสิบของไทย แม้จะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงแต่เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกในช่วงเดียวกันในตลาดประเทศจีนที่สูงถึง 6.66 แสนล้านบาท หรือสหรัฐอเมริกาที่สร้างรายได้การส่งออกให้กับภาคธุรกิจไทยได้ถึง 7.4 แสนล้านบาท
เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกของไทยในตลาดอินเดีย พบว่า การส่งออกเคมีภัณฑ์มีมูลค่า 1.85 หมื่นล้านบาท อัญมณีและเครื่องประดับ 1.66 หมื่นล้านบาท เม็ดพลาสติก 1.65 หมื่นล้านบาท รถยนต์และส่วนประกอบ 8.9 พันล้านบาท เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 8.45 พันล้านบาท เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 8.33 พันล้านบาท เหล็กกล้า 7.9 พันล้านบาท ทองแดง 6.7 พันล้านบาท เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ 6.6 พันล้านบาท คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 6 พันล้านบาท และผลิตภัณฑ์ยาง 5.63 พันล้านบาท
ประเทศไทยและอินเดียลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีตั้งแต่ปี 2547 โดยเริ่มจากการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้า 83 รายการเช่น เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ (พลอยสี) เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ บอลล์แบริ่ง และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เป็นต้น รวมทั้งความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างชาติอาเซียนและอินเดียในปี 2553 ทำให้การค้าระหว่างสองภูมิภาคคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่เป็นความหวังสำคัญของอาเซียนในช่วงที่ผ่านมาคือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) โดยหวังจะผนึกกำลังเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ของ 10 ชาติอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจาได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยความคิดดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2555 วาระของ RCEP นี้ถือเป็นเป้าหมายใหญ่ของภูมิภาคที่ทุกฝ่ายคาดว่าจะเสร็จสิ้นในการประชุมสุดยอดอาเซียน 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
แต่แล้ว RCEP ก็ปิดฉาก (รอบแรก) โดยไร้เงาอินเดีย ซึ่งขอเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นเดือน กุมภาพันธ์ 2563 โดยหลายฝ่ายคาดว่าอินเดียยังกังวลหากต้อง ‘เปิดประตู’ การค้าเสรี และอาจเกิดการทะลักของสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาจนสร้างผลกระทบกับธุรกิจภายในประเทศ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นอาวุธลับสำคัญของจีน ที่จะสั่นคลอนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นภาคธุรกิจสำคัญของประเทศ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ถูกกดดันจากประชาชนที่ออกมาประท้วงคัดค้านการเข้าร่วม RCEP ด้วย จึงทำให้เกิดภาพของ ‘15 ชาติ +1 อินเดีย’ ขึ้นมาแทนที่
เป็นการกลับลำที่ไม่ธรรมดาของอินเดียและชูประเด็น ‘India First’ ขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ แม้กระบวนการของ RCEP ยังเดินหน้าต่อ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าท่าทีของอินเดียในช่วงประชุมสุดยอดอาเซียนที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากทั่วโลกและยืนยันให้เห็นตรงกันว่า อินเดียนั้นไม่ง่ายเลย
เสียงสะท้อนผู้ประกอบการ ตลาดอินเดียไม่ง่าย แนะเจาะเมืองหลัก
กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการและที่ปรึกษาของบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เล่าประสบการณ์การทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดอินเดียให้ The Momentum ฟัง โดยบอกว่า ปัจจุบัน โตชิบาประเทศไทยส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและไมโครเวฟไปที่อินเดีย โดยเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นสินค้าขายดีเริ่มได้รับผลกระทบจากความพยามของรัฐบาลอินเดียในการผลักดันการผลิตภายในประเทศ หรือ ‘Make in India’ เริ่มมีกลุ่มทุนจากจีนและประเทศอื่นๆ สนใจเข้าไปตั้งโรงงานเพื่อผลิตแล้ว แตกต่างจากไมโครเวฟที่ยังมีแนวโน้มของยอดขายที่เติบโตดี
แม้สินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยภายใต้ตรา ‘Made in Thailand’ จะเป็นที่ยอมรับและนิยมในบรรดาผู้บริโภคชาวอินเดีย แต่ด้วยปัจจัยตลาดโลกที่ผันผวน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าสวนทางกับค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ทำให้ระดับราคาสินค้าของไทยสูงขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจนำเข้าและการเลือกซื้อของผู้บริโภคได้ หากอินเดียเร่งการผลิตภายในประเทศเพื่อตอบสนองตลาดอย่างเข้มข้น ก็จะส่งผลกระทบกับยอดขายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
“จากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการเครื่องใช้ไฟฟ้ามา ถ้าเขาผลิตในประเทศ ตอนแรกอาจจะยังไม่คล่อง มีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ผ่านไปสักพัก เขาจะทำได้ดีขึ้น เพราะเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงกระบวนการผลิตได้ตลอดเวลา สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวคือการมีหุ้นส่วนธุรกิจอินเดียที่ดี ไว้ใจได้ อินเดียมีศักยภาพเพราะผู้คนยังอายุน้อย ยังบริโภคได้อีกมาก แต่ต้องทำความเข้าใจดีๆ เพราะตลาดนี้ไม่ง่ายเลย” กอบกาญจน์กล่าว
“สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมตัวคือการมีหุ้นส่วนธุรกิจอินเดียที่ดี ไว้ใจได้ อินเดียมีศักยภาพเพราะผู้คนยังอายุน้อย ยังบริโภคได้อีกมาก แต่ต้องทำความเข้าใจดีๆ เพราะตลาดนี้ไม่ง่ายเลย” – กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการและที่ปรึกษาของบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด
นอกจากสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว สิ่งที่น่าสังเกตคือ มูลค่าสินค้าเกษตรของไทยที่ไปที่อินเดียนั้นยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งที่เป็นกลุ่มสินค้าที่สามารถส่งขายได้แพร่หลายทั่วโลก เรื่องนี้ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช. ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum โดยอธิบายว่า อินเดียยังพึ่งพาเกษตรกรรมอยู่มาก และประชากรครึ่งหนึ่งของอินเดียอยู่ในผืนนาผืนไร่ ซึ่งมีความสมบูรณ์พร้อมทางธรรมชาติสำหรับการเพาะปลูกไม่แพ้ประเทศไทย เห็นได้จากปริมาณการส่งออกข้าวจำนวนมหาศาลที่ทำให้อินเดียครองแชมป์ต่อเนื่องหลายปี
รัฐบาลอินเดียปกป้องอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศอย่างเข้มข้น กระทั่งผลไม้ของประเทศไทยที่ขึ้นชื่อยังได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเพียงแค่ 5 รายการเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย (Food Safety and Standards Authority of India : FSSAI) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสวัสดิการสุขภาพและครอบครัว เป็นหน้าด่านสำคัญในการควบคุมมาตรฐานที่เข้มงวดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ส่งออกต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนและมีเอกสารที่ครบถ้วน ทั้งใบรับรองแหล่งกำเนิด รายงานผลวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการตรวจสอบเรื่องสารปนเปื้อน สารตกค้าง การเคลือบสาร รวมถึงเอกสารสุขอนามัยพืชไปจนถึงรูปแบบการติดฉลาก
ถือเป็นอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่ผู้ประกอบการไทยต่างรู้ดี ยังไม่นับรวมกฏหมาย กฏเกณฑ์ต่างๆ อีกมาก รวมทั้งหลักปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันในแต่ละรัฐอีกด้วย ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไทยกับอินเดียก็มีความแตกต่างกันพอสมควร ประกอบกับภาษาท้องถิ่นที่มาถึง 400 ภาษา จึงทำให้การทำความเข้าใจประเทศนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร
นอกจากความยากของตลาดอินเดียเองแล้ว รศ.ดร.อัทธ์ยังชี้ว่า ผู้ประกอบการของไทยมีข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับอินเดียอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับองค์ความรู้ที่มีอย่างหลากหลายและครอบคลุมของตลาดจีน งานวิจัย การศึกษาหรือการสัมมนาที่เป็นประโยชน์ต่อการทำตลาดยังไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับข้อมูลของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอินเดีย
“ เรารู้จักอินเดียน้อยไป ” รศ.ดร.อัทธ์กล่าว
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยคือ ไม่จำเป็นต้องไปเจาะทุกตลาด ทุกรัฐของอินเดีย เพราะมีขนาดใหญ่มาก และระดับรายได้ต่อหัวของอินเดียยังอยู่ในระดับต่ำ ที่ 2 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6 หมื่นบาทต่อปี เมื่อเทียบกับประชากรไทยที่มีรายได้ต่อหัวกว่า 6 พันดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 2 แสนบาทต่อปี หรือประชากรจีนที่มีรายได้ต่อหัว 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐหรือราว 3 แสนบาทต่อปี ดังนั้น ผู้บริโภคชาวอินเดียจึงยังเลือกซื้อ ‘ของดี ราคาถูก’ อยู่เสมอ
การเลือกทำการตลาดในเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพอย่าง นิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา และเจนไน จึงดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งสินค้าของไทยยังอยู่ในช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่หรือ Modern Trade ซึ่งทำให้การกระจายสินค้าทำได้ในวงจำกัด เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่คุ้นเคยกับร้านค้าปลีก หาบเร่ แผงลอยมากกว่า นอกจากนี้ ควรจะเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาด ณ จุดขายให้มากขึ้น
อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรที่กินอาหารมังสวิรัติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งการบริโภคอาหารที่ปรุงเครื่องเทศหลากรส อาหารที่ระดับความหวานต่ำ รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีสีสันสดใส เตะตาผู้บริโภค คือโจทย์สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับตลาดนี้มากยิ่งขึ้น หากสามารถลงนามในข้อตกลงหรือทำงานร่วมกับสำนักด้านมาตรฐานต่างๆ ในอินเดียได้ จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขันอีกเป็นเท่าตัว
อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรที่กินอาหารมังสวิรัติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งการบริโภคอาหารที่ปรุงเครื่องเทศหลากรส อาหารที่ระดับความหวานต่ำ รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีสีสันสดใส เตะตาผู้บริโภค คือโจทย์สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการให้เหมาะสมกับตลาดนี้มากยิ่งขึ้น
รศ.ดร.อัทธ์ยังแนะนำให้ผู้ประกอบการใช้กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดโดยช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการรวมกลุ่มเพื่อสร้างแพลตฟอร์มสินค้าไทยที่ทำตลาดในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเว็บไซต์หรือกลุ่มใดที่เป็นแบรนด์ที่หนึ่งในใจ (Top of Mind) ได้ ขณะเดียวกัน ควรทำคลิปหรือคอนเทนต์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น ทั้งการเล่าเรื่องตัวสินค้าหรือการแชร์ประสบการณ์เชิงบวกของผู้บริโภคสินค้าไทย (Testimonial)
อินเดียกำลังก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย ใครก็รู้ ภาครัฐเองก็พยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยไปบุกตลาดนี้มากขึ้น สินค้าและบริการที่มีอยู่สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ แม้ขนาดตลาดจะใหญ่โต แต่ถ้าขายของที่ไม่มีใครอยากได้ ก็ยากที่จะไปต่อ สิ่งที่สำคัญคือ เรารู้จักอินเดียแล้วหรือไม่ และรู้จักดีแค่ไหน
คำตอบก็ชัดเจนพอๆ กับที่เราไม่รู้ว่าผู้นำอินเดียจะทิ้งไพ่เด็ดเรื่อง RCEP ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั่นเอง
อ้างอิง :
ดูข่าวต้นฉบับ: https://themomentum.co/understanding-indian-markets/
Comments