top of page
Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

ใครว่าแบรนด์ไม่มีพลัง?



ผมผ่านมาทำธุระแถวอโศกก็เลยแวะมากินกาแฟตรง Metro Mall สถานีรถไฟใต้ดินสุขุมวิทเสียหน่อย เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะเลย สงสัยเพราะไม่ได้แวะมานานหลายปีแล้ว

.

ที่แปลกใจคือด้านหน้าของทางเข้า มีร้านกาแฟ 2 แบรนด์ตั้งเด่นหราชัดเจนนั่นคือ คาเฟ่ อะเมซอนและสตาร์บั๊คส์ ซึ่งสีประจำแบรนด์ที่ใช้สื่อสารการตลาดก็ดันเป็นสีเขียวทั้งคู่ (แม้จะไม่ใช่เฉดเดียวกัน) ฝั่งหนึ่งใช้สัญลักษณ์นางเงือก อีกฝั่งใช้สัญลักษณ์นกเงือก

.

เอากับเขาสิ

.

ต้องบอกก่อนว่าผมชื่นชมทั้งสองแบรนด์นะครับ ทั้งสตาร์บัคส์ที่เป็นตำนาน 'Case Study' ของนักเรียนการตลาดมาช้านาน และคาเฟ่ อะเมซอนที่ OR ทำได้เก่งมากจนเข้าถึงทุกคนและเริ่มตีตลาดต่างประเทศ

.

แต่สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ คนเลือกเข้าร้านสตาร์บัคส์มากกว่าคาเฟ่ อะเมซอน เมื่อเอาร้านมาเปิดติดกันเลยแบบนี้

.

ทั้งที่กาแฟสตาร์บัคส์ 1 แก้ว ราคาเท่ากับกาแฟอะเมซอน 2 แก้ว และคิวยาวกว่า

.

แสดงว่ากาแฟไม่ใช่แค่กาแฟ การกินกาแฟไม่ใช่แค่การกินกาแฟ เพราะถ้ามองแต่ประโยชน์การใช้สอย (Functional Benefit) คือกินกาแฟให้หายง่วง มันไม่สมเหตุสมผลที่เราจะเดินเข้าสตาร์บัคส์เลย ทำไมจะต้องจ่ายของที่แพงกว่าด้วย

.

คำตอบคือ มนุษย์เราตัดสินใจด้วยอารมณ์และไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สมเหตุสมผลน่ะสิครับ

.

ตำราการตลาดบอกเอาไว้ว่า แบรนด์ คือ การรับรู้ทั้งหมด (Total Perception) ที่ผู้บริโภคมีต่อสิ่งนั้นๆ มันชัดเจนมากว่า แบรนด์ครอบคลุมประสบการณ์ทั้งหมดไปจนถึงทัศนคติที่มี มากกว่าแค่มุมของราคา ยี่ห้อ สัญลักษณ์หรือสโลแกนครับ

.

แบรนด์จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะเราอยากจะใช้ อยากจะจ่าย อยากจะอยู่กับสิ่งที่เรารักเสมอ ตรงนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้เลย

.

รักเสียอย่าง ราคาแพงกว่าอย่างไรก็จะซื้อ

.

ดังนั้น การมีแบรนด์สินค้าที่ดีจึงช่วยทั้งลดต้นทุนในการสื่อสารการตลาดเมื่อต้องออกสินค้าและบริการใหม่ๆ แล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้จากยอดขายของแฟนๆ ที่รักในแบรนด์และพร้อมจะสนับสนุนด้วย

.

รายละเอียดปลีกย่อยของทั้งสตาร์บัคส์และคาเฟ่ อะเมซอนนั้นยังเล่าได้อีกยาวครับ ของสตาร์บัคส์นั้นต้องชมเรื่องการออก Service Blueprint และ การบริหารจัดการประสบการณ์ลูกค้าได้ดีเยี่ยมจริงๆ ทั้งการบริการ คุณภาพสินค้า รวมทั้งบรรยากาศของร้าน ไปสาขาไหนก็ไม่บิดเบี้ยวไปจากความคาดหวังและการรับรู้ของลูกค้านัก

.

ส่วนคาเฟ่ อะเมซอนนั้นเติมความสนุกในการสร้างแบรนด์ขึ้นมาเยอะมาก ถือว่าทีมการตลาดขยันและพยายามพัฒนาตัวเองเสมอ มีกิจกรรมและรายการส่งเสริมการขายใหม่ๆใส่เข้ามาตลอด

.

ต้องออกตัวก่อนนะครับ ว่า ผลลัพธ์จากการสังเกตนี้เกิดขึ้นตรงอโศก ซึ่งลักษณะลูกค้านั้นมีความชัดเจนอยู่แล้ว ถ้าสองแบรนด์นี้ลองไปเปิดข้างกันในปั๊มน้ำมัน หรือ จุดอื่นที่ Customer Profile ต่างออกไป ผลก็อาจจะต่างออกไปได้

.

เรื่องนี้จึงสอนว่า แบรนด์ที่แข็งแรงนั้นมีพลังมาก การบริหารจัดการประสบการณ์และความสัมพันธ์ลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายได้ธุรกิจมาจากยอดขาย และยอดขายก็มาจากการตัดสินใจเลือกซื้อนี่ล่ะ

.

นึกถึงใครก่อน ก็เลือกคนนั้นก่อน

.

31 views0 comments

Comments


bottom of page