ต้องยอมรับครับว่าเราเริ่มต้นปี 2021 นี้ด้วยบรรยากาศที่ไม่สู้ดีนัก หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ขึ้นในประเทศไทย บ้านที่เราคิดว่าปลอดภัยที่สุดในโลก ก่อนหน้านี้ทุกภาคส่วนเพิ่งจะยกย่องให้เราเป็นประเทศที่มีการจัดการด้านสาธารสุขที่ยอดเยี่ยมที่สุด จนถึงวินาทีนี้ตัวผมเองก็ยังเชื่อแบบนั้นนะครับ หมอเราเก่ง พยาบาลเราเก่ง อาสาสมัครเราเก่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนมีหัวใจที่น่านับถือ ส่วนเรื่องการบังคับใช้กฎหมายและอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวกับด้านสาธารณสุข ก็คงเป็นโจทย์ที่เราต้องแก้กันต่อไป
จะเห็นได้ว่ารอบนี้ เราหลีกเลี่ยงคำว่าปิดเมืองหรือล็อกดาวน์กันเต็มที่เลย เพราะมันมีผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นรวมทั้งข้อปฏิบัติต่างๆที่จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการและคนทำมาหากินทั้งหลาย เชื่อว่าตอนนี้ BizKlasser ไม่น้อยก็กลับไปทำงานที่บ้านกันอีกครั้ง อยู่กับการประชุมผ่าน Zoom และแพลตฟอร์มต่างๆ กันทั้งวันเหมือนที่มันเคยเกิดขึ้นเมื่อเกือบปีที่ผ่านมา ดังนั้นการแพร่ระบาดรอบนี้ยังไงก็มีผลกระทบล่ะครับ เพียงแต่ว่าเราจะจำกัดวงมันได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่าถ้าเราทำได้ดีจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจึงจะกลับไปที่ ‘ระยะอุ่นใจ’ เหมือนก่อนหน้านี้ ขณะที่บางท่านก็มองว่าต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนหรือนานกว่านั้นด้วยซ้ำ
จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าคนในประเทศคาดว่า (Expectation) เศรษฐกิจต่อไปในระยะสั้นจะแย่ลง?
เรื่องนี้ก็เหมือนกับข้อสอบวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนตอนปริญญาตรีเลยครับ ถ้าเราคิดว่าอีกหน่อยอะไรต่อมิอะไรจะแย่ นั่นคือเรากลัวว่าเราจะถูกเลิกจ้างงาน เรากลัวว่ารายได้ในอนาคตจากงานที่ทำ (และอาจจะไม่มีในวันข้างหน้า) หรือการค้าขายจะลดลง เราก็จะลดการใช้จ่ายโดยอัตโนมัติ เพราะคิดว่าต้องเก็บเงินเอาไว้ รองรับความไม่แน่นอน (Uncertainty) ที่กำลังจะมาถึง พอจับจ่ายน้อยลงนั่นคือซื้อของ ใช้บริการน้อยลง รายได้ของพ่อค้าแม่ขาย รวมทั้งห้างร้านต่างๆก็ลดลงตามไปด้วย เพราะคนไม่มา หรือมาก็ไม่ซื้อ
พอรายได้ภาคเอกชนลดลงเพราะยอดขายหดตัว ตั้งแต่ซีอีโอไปจนถึงอาเฮียทั้งหลายก็ลดการสั่งซื้อวัตถุดิบลงเพื่อให้เหมาะสมกับกำลังการผลิตที่ปรับลดลงด้วย ทีนี้รายได้ของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหลายก็ลดตามไปจนถึงต้นน้ำซึ่งก็อาจหมายถึงเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน วิสาหกิจชุมชนและคนตัวเล็กๆ อีกมาก มิหนำซ้ำภาคการผลิตก็เริ่มลดกะการทำงาน ลดจำนวนพนักงาน เพื่อยังรักษาความสามารถในการทำกำไรหรือกระทั่งรักษาชีวิตของบริษัทให้อยู่รอดต่อไปได้
เรื่องความคาดหวัง ความมั่นใจหรือไม่มั่นใจของผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องที่ใหญ่มากครับ
แม้สถานการณ์และความรู้สึกตอนนี้ บางท่านจะบอกว่าเป็นเรื่องความมั่นใจ (Confidence) มากกว่าการคาดการณ์ (Expectation) ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ช่วงนี้มันน่าอึดอัดใจจริงๆ
มีโอกาสได้คุยกับพนักงานโรงแรมบางท่าน เขาก็บอกว่าดีใจที่ได้กลับมาทำงาน แต่เพื่อนร่วมงานก็น้อยลงไปเยอะ มาทำงานแต่ละวันก็ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดเพราะไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะยังมีงานทำอยู่หรือเปล่า ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างเดียวนะครับ ตอนนี้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนก็ถูกลดวันทำงาน ซึ่งนั่นก็หมายถึงรายได้ที่ลดลง หรืออย่างนักบินบางที่ยังมีงานทำ ก็เหลือชั่วโมงบินเพียง 10 ชั่วโมงต่อเดือนเท่านั้น
และเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกินที่เราจะมองวันข้างหน้าของปีนี้สดใส ในวินาทีนี้
สำนักเศรษฐกิจหลายแห่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ลงอย่างต่อเนื่อง เดิมเคยมองว่าจะเติบโตได้ 4-5% เพราะฐานของปี 2020 นั้นต่ำมากแล้ว ติดลบไปเยอะ แต่พอเจอกับหลายๆปัจจัยแวดล้อม กลายเป็นว่าเริ่มมีบางสำนักคาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะโตได้เพียง 2-3% เท่านั้น เพราะภาคการส่งออกของเรายังเจอกับเรื่องท้าทาย ทั้งเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนยวบ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอซึ่งทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น และที่สำคัญคือบรรดาลูกค้าต่างประเทศของเราก็ยังสะบักสะบอมกับโรคโควิด-19 ดังนั้นอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการของไทยจะกลับไปจุดเดิมในเร็ววันคงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่ายาก
เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเราพึ่งพารายได้จากท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่มาก ปี 2019 มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนบ้านเราถึงเกือบ 40 ล้านคน ขณะที่ปี 2020 กลับเหลือนักท่องเที่ยวเพียง 6 ล้านคนซึ่งเป็นตัวเลขของไตรมาส 1 ก่อนที่โลกจะเจอกับการแพร่ระบาดหนัก มาปีนี้ คาดว่าจะเหลือชาวต่างชาติมาไทยเพียง 4 ล้านคนหรืออาจจะน้อยกว่าด้วยซ้ำ
จาก 40 ล้าน เหลือ 4 ล้านคน
ที่สำคัญคือเราเหนื่อยล้าจากปีที่ผ่านมามากแล้ว ภาครัฐก็ใช้งบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูไปเยอะแล้ว ขณะที่มาตรการทางการเงินผ่อนคลายจากแบงก์ชาติก็ออกมาหลายกระบวนท่าแล้ว ถือว่าใช้กระสุนดินดำไปเยอะพอสมควร
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ การร่วมมือร่วมใจก้นเหมือนที่เราเคยทำกันเมื่อปีที่ผ่านมา ดูแลสุขอนามัยของตนเองและคนในครอบครัวให้ดี พร้อมกับติดตามข่าวสารอย่างเหมาะสม ส่วนภาคธุรกิจที่เจอกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ หลายที่ที่เคยลังเลว่าจะเลิกทำหรือเลิกกิจการที่ไม่ทำกำไร ไม่มีอนาคต ก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะเข้าทำนอง “จะอยู่หรือตาย (Dead or Alive)” แล้ว
ผมขอใช้โพสต์นี้เป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างหวาดหวั่นทุกคนในระบบเศรษฐกิจรวมทั้งผมเอง รวมทั้งเจ้าของร้านอาหาร รวมทั้งธุรกิจจัดแสดง รวมทั้งพนักงานในภาคบริการและใครอีกหลายๆคน อยากจะบอกว่าคุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว คุณไม่ลำบากอยู่คนเดียว มีคนเข้าใจและเห็นใจสิ่งที่คุณทำ สิ่งที่คุณเป็นเสมอครับ
อดทนเอาไว้ไปพร้อมกับการปรับตัว คิด ทำสิ่งใหม่กันครับ
ทุกอย่างจะผ่านไป ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่จุดสมดุลใหม่ และก็จริงอย่างที่เพลงว่า “เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ”
อยู่ด้วยกัน เดินไปด้วยกันนะครับ : )
- เล็ก-มนต์ชัย -
Comentarios