เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่อลหม่านและสับสนจนไม่รู้ว่าวาระไหนคือวาระใหญ่กันแน่ เพราะทุกเรื่องดูจะคอขาดบาดตายกันหมด ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องหลายปี หรือสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนในยูเครน
การประชุมใหญ่ประจำปีของ World Economic Forum เป็นอีกหนึ่งเวทีที่พอจะตอบคำถามนี้ได้
ผู้นำสูงสุดของเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ซีอีโอ ผู้บริหารจากกลุ่มผู้มั่งคั่ง 1% ของโลก ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดและจิตวิญญาณ กลุ่มคนรุ่นใหม่รวมทั้งนักเคลื่อนไหวทางสังคมนับพันคนจะรวมตัวกันทุกปีที่ Davos Congress Centre เมืองดาวอส เมืองตากอากาศเล่นสกีอันแสนจะเรียบง่ายทางภาคตะวันออกของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเวทีนี้จัดต่อเนื่องมายาวนานมากกว่า 50 ปีแล้ว
ผู้เขียนในฐานะนักเขียนของ NG Thai และนักข่าวไทยเพียงรายเดียวที่ลากกระเป๋าเดินทางหนักอึ้งจากสนามบินสุวรรณภูมิไปเดินว่อนในเมืองดาวอสเพื่อเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ปลายทางคือการค้นหาแรงบันดาลใจที่ตื่นเต้นจากวิถีของบุคคลระดับโลกที่มานั่งถกกันเพื่อร่วมกำหนดทิศทางนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประชากรอีกหลายพันล้านคนบนดาวดวงนี้ และยินดีที่จะบอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย รวมทั้งความยั่งยืนที่จับต้องได้จากงานนี้ด้วยตัวเอง
สวิตเซอร์แลนด์เปิดประเทศ วิถีชีวิตเดิมที่ไม่เหมือนเดิม
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 จะ ’ดูเบาลง’ โดยเฉพาะในประเทศโลกตะวันตกที่ตอนนี้ไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้เท่าไหร่แล้ว แต่ก็พูดได้ไม่เต็มปากนักว่าตอนนี้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ เพราะทางผู้จัดงานยังขอให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนส่งผลตรวจ RT-PCR ก่อนเข้าร่วมงาน 72 ชั่วโมง และต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ก่อนรับบัตรเข้างานเพื่อความปลอดภัยสูงสุด ขณะที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของสวิตเซอร์แลนด์เอง (เดือนพฤษภาคม) ไม่ได้ขอให้ผู้เดินทางแสดงเอกสารใดๆเกี่ยวกับการรับวัคซีนหรือการรักษาโรคโควิต-19 ทั้งสิ้น
เดินทางเข้าประเทศได้ตามปกติ
ส่วนผู้คนที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นชาวสวิสเองหรือนักท่องเที่ยวจากอเมริกาและยุโรปไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยอีกต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพร่างกายที่แข็งแรงหรือป่วยกระเสาะกระแสะก็ตามที ซึ่งผู้เขียนเองรู้สึกแปลกประหลาดเมื่อลองถอดหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เพราะไม่ได้ทำมาร่วมสองปีแล้ว ใช้เวลาสักครึ่งวันจึงจะเริ่มชินกับวิถีชีวิตเดิมที่เราอาจจะหลงลืมไปแล้ว
หลังจากรับกระเป๋าเดินทางก็นั่งรถไฟเชื่อมต่อไปยังสถานีหลัก Zurich HB จากนั้นก็ขึ้นรถไฟขบวนใหญ่เดินทางไปที่เมืองดาวอส จุดหมายปลายทางแห่งปีที่ผู้คนรอคอย ภูมิอากาศและทัศนียภาพของสวิตเซอร์แลนด์นั้นสวยงามสมกับเป็นเมืองท่องเที่ยวของโลกจริงๆ เมื่อมองในมุมการพัฒนาเมืองแล้วต้องยอมรับว่า อากาศที่ไม่ร้อนเกินไปนักทำให้ผู้คน ’ยินดี’ ที่จะเดินเป็นกิโลเมตรจากบ้านไปยังสถานีขนส่งที่ใกล้ที่สุด และใช้บริการรถสาธารณะที่สภาพใหม่เอี่ยมเดินทางไปไหนมาไหน
ต่างจากอากาศร้อน 35 องศาเซลเซียสที่ร้อนจัดในประเทศไทย การเดินตากแดดจัดสัก 100 เมตรดูจะเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งเจอกับปัญหาการเชื่อมต่อของระบบขนส่งด้วยแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่รถยนต์ยังคงเป็นสินค้าขายดีในบ้านเรา
“รถไฟขบวนนี้กำลังมุ่งหน้าสู่ดาวอส” เสียงประกาศอัตโนมัติดังนั้น เพื่อแจ้งเตือนผู้โดยสารกลุ่มใหม่ที่ขึ้นจากสถานี เด็กหนุ่มสองขนเข็นจักรยานคันใหญ่ไปด้านข้าง ยกขึ้น และแขวนกับราวแขวนจักรยานที่รถไฟเตรียมไว้ให้อย่างไม่ขัดเขิน เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ต่อหัวสูงและมีแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างชัดเจน หนึ่งในกลไกการรับมือกับภาวะโลกร้อนที่เราพูดกันอยู่ทุกวันนั้นไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์ให้คนใช้รถจักรยาน แต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่รองรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย ยิ่งการเข้าถึงทำได้ง่าย ด้วยต้นทุนที่ต่ำ การส่งนโยบายก็ยิ่งทำได้เร็วขึ้น
ใช้เวลาสองชั่วโมงนั่งสังเกตบ้านเมืองและผู้คนไปเรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีก็มาถึงดาวอสแล้ว
WEF2022 ความยั่งยืนภายใต้ควันสงครามที่ปกคลุมไปทั่วดาวอส
การประชุมในปีนี้ต่างจากครั้งล่าสุดเมื่อปี 2020 อย่างชัดเจน เนื่องจากประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ‘โจ ไบเดน’ ไม่ได้เข้าร่วม แต่เลือกไปเยือนโตเกียวในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อประชุมกับผู้นำของอินเดีย ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นการเดินทางไปเอเชียครั้งแรกนับจากเข้ารับตำแหน่ง ขณะที่อดีตผู้นำอย่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ มาเยือนที่ดาวอสเมื่อสองปีก่อนพร้อมกับทีมอารักขาเข้มงวดสูงสุด แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นจากหมัดเด็ดของ ‘เกรตา ทูนแบร์ก’ เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่วิจารณ์เขาและบรรดาผู้นำโลกเรื่องการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปได้
ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกแทรกคิวด่วนขึ้นมาแถวหน้าสุดของการพูดคุยที่นี่ จากสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งกลายเป็นเรื่องบานปลายมากกว่าที่ใครจะคาดเดาได้ ผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุดจากเรื่องนี้หนีไม่พ้นกลุ่มประเทศยุโรปที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับสูงและยากจะตัดขาดจากกันท่ามกลางสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่บีบให้โลกตะวันตกต้องรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวและแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้
กระทั่งช่วงพิธีเปิดการประชุมใน Congress Hall ผู้ก่อตั้งและผู้นำสูงสุดของ World Economic Forum อย่าง ดร. เคลาส์ ชวอป ก็ยังต่อสายประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำของยูเครนเป็นการพิเศษเพื่อพูดคุยกับผู้นำทั่วโลกที่มาร่วมประชุม ซึ่งเขาได้เรียกร้องให้นานาอารยประเทศยกระดับการคว่ำบาตรรัสเซียให้หนักข้อขึ้น รวมทั้งยินดีรับยุทโธปกรณ์และกำลังทางทหารจากชาติพันธมิตรที่จะเข้าไปร่วมต่อสู้ในยูเครนด้วย
เสียงปรบมือดังกึกก้องส่งแรงใจให้ยูเครนในห้องประชุม กลบเสียงสะท้อนของธรรมชาติที่ถูกทำลายจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมทั้งสงครามของมนุษย์ในการประชุมระดับโลกครั้งนี้ไปพอควร
จากการกวาดสายตาไปรอบๆเพื่อสังเกตผู้คน ไม่แปลกที่เรื่องนี้จะเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ของคนที่นี่และประชาคมโลกไปโดยปริยาย เนื่องจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาออกตัวแต่แรกในการสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชาติยุโรป ซึ่งดินแดนตะวันตกนั้นกุมอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของมนุษยชาติ การประชุมที่เมืองดาวอสแห่งนี้จึงเต็มไปด้วย ‘คนขาวผู้ทรงอำนาจ’ ทั้งผู้นำ นักธุรกิจและกองทัพสื่อ ไม่มีตัวแทนจากรัสเซียเนื่องจากถูกแบน และมีตัวแทนจากประเทศจีนเพียงไม่กี่คนเพราะยังอยู่ภายใต้การปิดเมืองเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น
กระนั้น เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ยังมีพื้นที่อยู่ไม่น้อย แม้จะไม่ใช่บทบาทตัวเอกเหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา
ปีนี้แนวคิดหลักของการจัดงานคือ ‘History at a Turning Point : Government Policies and Business Strategies’ ตอกย้ำจุดเปลี่ยนที่สำคัญนับจากนี้ที่เชื่อมโยงกันทั้งการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ ไปจนถึงห่วงโซ่อุปทานที่อาจจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ไม่ว่าสถานการณ์หรือชุดความคิดของชาติมหาอำนาจะเป็นอย่างไรและสร้างผลกระทบขนาดไหน โจทย์ใหญ่ที่สุดที่ทุกคนต้องรับมือร่วมกันก็คือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งรุกคืบเข้ามาเรื่อย ๆ
‘จอห์น เคอร์รี่’ นักการเมืองชื่อดังของอเมริกาในฐานะผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่งแถลงข่าวพร้อมกับ ‘บิล เกตส์’ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ ในฐานะตัวแทนจาก 50 ชาติสมาชิก ‘First Mover Coalition’ ประกาศแผนลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมหนัก รวมถึงการขนส่งทางไกลที่สร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 30% ของทั้งหมด โดยจะเน้นการลงทุนในธุรกิจสีเขียวอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดก้าวกระโดดที่สำคัญในปี 2030 เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ให้ได้
บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่าตลาดถึง 8.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานจึงเป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมาก ตั้งแต่การใช้เหล็กกล้าและอะลูมิเนียมซึ่งผลิตจากกระบวนการคาร์บอนต่ำ รวมทั้งกระบวนการบิน ขนถ่ายและขนส่งสินค้าที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีพิเศษที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งไมโครซอฟต์ อัลฟาเบต และเซลส์ฟอร์ซ ต่างพร้อมใจกันลงขัน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนาการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide Removel – CDR) ด้วย
หนทางยังอีกยาวไกลแต่ก็ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนพลังงานไฮโดรเจนแทนที่พลังงานฟอสซิล การใช้กรีนแอมโมเนียในภาคการขนส่ง รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น
นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาลที่ดี (ESG) ซึ่งเป็นหนทางสำคัญที่โลกจะขับเคลื่อนไปก็ถูกยกระดับความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดย World Economic Forum ได้ร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง ดีลอยต์ เอิร์นส์แอนด์ยัง เคพีเอ็มจี และพีดับบลิวซี จัดทำตัวชี้วัดและเอกสารเผยแพร่ ‘Stakeholder Capitalism Metrics’ โดยตั้งใจจะเป็นแกนสำคัญของภาคธุรกิจในการวัดปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงินที่สะท้อนการดำเนินการอย่างยั่งยืน รวมทั้งความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อแจ้งต่อนักลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องครอบคลุมทั้งรายงานประจำปีและรายงานด้านความยั่งยืน ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งเนสท์เล่ ยูนิลิเวอร์ ซีเมนส์ หรือไอบีเอ็มได้เริ่มใช้ตัวชี้วัดนี้แล้ว
เสน่ห์ของเมืองดาวอสในช่วงสัปดาห์ของการจัดประชุม World Economic Forum คือสีสัน กิจกรรม และสถานที่โดยรอบ Davos Congress Centre ซึ่งเป็นจุดประชุมหลัก ตึกแถว ร้านค้า และโรงแรมทั้งหลายจะถูกแปลกโฉมเป็นโชว์เคสของแบรนด์เทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ อย่างละลานตา หนึ่งในจุดที่ผู้เขียนประทับใจที่สุดคือ SDG Tent ที่เดาได้ไม่ยากเลยว่าเป็นเรื่องเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาติ (SDGs) ภายในเต็นท์สีขาวที่ก่อสร้างอย่างเรียบง่ายนี้ เป็นสถานที่นัดพบกันขององค์กรระดับโลกและซีอีโอแถวหน้าเพื่อสร้างความร่วมมือสู่อนาคตที่ดีขึ้น
ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับผู้บริหารของ Rabobank ธนาคารที่มีสินทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรเป็นหลัก พัฒนามาจากความร่วมมือกันของกลุ่มสหกรณ์เมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านมา จนเป็นกลุ่มก้อนของสถาบันการเงินท้องถิ่นนับร้อยแห่งในปัจจุบัน องค์กรแห่งนี้ต้องการเป็นธนาคารแห่งการเปลี่ยนผ่าน (Transition Bank) ที่มีบทบาทในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงไม่แปลกที่พื้นที่เล็ก ๆ นี้จะมีนักธุรกิจระดับโลก ซีอีโอของไทยแวะเวียนมาพูดคุย รวมทั้ง ‘บุคคลสำคัญระดับสูงสุด’ ของเนเธอร์แลนด์ที่อยู่ในห้องประชุมข้าง ๆ ห่างจากผู้เขียนไม่ถึง 10 เมตรในขณะนั้นด้วย
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้บริหารจากประเทศไทยที่มาร่วมประชุม World Economic Forum ปี 2022 ที่ผู้เขียนพบประกอบด้วย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี จากกลุ่มไทยเบฟ, คุณสุภกิต เจียรวนนท์ จากเครือเจริญโภคภัณฑ์, คุณชัยวัฒน์ โควาวิสารัช จากบางจาก, คุณยาช โลเฮีย จากอินโดรมา เวนเจอรส์ และคุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา จากบิทคับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคมโลก มีเพียงผู้ว่าแบงก์ชาติที่ขึ้นเวทีเสวนาเรื่องระบบการเงินร่วมกับคริสตาลิน่า จอร์เจียวา ผู้บริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากเวทีนี้เรื่องการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทยที่ทำได้ไม่แพ้ใครในโลก
สิ่งที่เป็นบทสรุปของเวทีประชุมขนาดใหญ่นี้สำหรับผู้เขียน คือช่วงเวลาสิบนาทีที่ได้นั่งคุยกับคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเขายอมรับว่าสถานการณ์โลกในตอนนี้ท้าทายมากจากปัจจัยใหม่และเก่าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน วิธีคิดในการทำธุรกิจ รวมทั้งการดำรงอยู่ขององค์กรทั้งหลายจึงต้องต่างออกไปจากเดิม ความร่วมมือระหว่างกันอย่างที่เราเข้าใจนั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะเติบโตหรือกระทั่งอยู่รอดต่อไป จำเป็นต้องสร้างความร่วมแรงร่วมใจที่แน่นแฟ้น (Deep Collaboration) ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งจะมองว่าเป็นคู่แข่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป เพราะวันหนึ่งก็อาจจับมือเป็นคู่ค้าทางธุรกิจกันได้ รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ กับผู้ประกอบการต่างอุตสาหกรรม องค์กรอื่น ๆ และภาครัฐที่จะช่วยทำให้สังคม สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ดีขึ้นได้ จากการจับมือกันให้แน่นพอและเดินต่อไปข้างหน้าพร้อมกัน แม้ดาวอสในเดือนพฤษภาคมจะไม่มีหิมะขาวโพลนปกคลุมเหมือนช่วงเดือนมกราคม แสงแดดสาดส่องไปทั่วบริเวณตลอดวัน แต่อากาศก็ยังถือว่าดีมากทั้งอุณหภูมิที่เย็นสบายรวมทั้งฝุ่นควันในปริมาณต่ำ แผงโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่เท่าอาคารสามชั้นตั้งตระหง่านใจกลางเมืองเพื่อตอกย้ำความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทนจากสิ่งที่ธรรมชาติมี ผู้เขียนมองป้าย ‘Davos is a Verb’ แล้วคิดตามอะไรได้หลายเรื่องจากประวัติศาสตร์ครึ่งศตวรรษของ World Economic Forum ที่สร้างการรวมตัวกันของบุคคลสำคัญจากทั่วทุกมุมโลก สร้างหมุดหมายใหม่ ๆ ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จากยุคสงครามเย็น ผ่านยุคด็อทคอมฟองสบู่แตก วิกฤตเศรษฐกิจ สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดใหญ่ มาจนถึงสงครามรอบใหม่ จะว่าไปแล้วโลกไม่เคยว่างเว้นจากความวุ่นวายเลย สิ่งสวยงามให้มองเห็นคือความพยายามของประชาคมโลกในการร่วมกันคิด ร่วมกันทำเพื่อแก้ไขปัญหานี่ล่ะ
“รวมกันเราอยู่” จึงเป็นจริงเสมอ
Comments