ผมเพิ่งสัมภาษณ์ 'ดร.เชาว์ เก่งชน' ผู้บริหารของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมาครับ K-Research ปรับคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือเพียง 1.8% เท่านั้น ฟื้นตัวต่ำทั้งที่เศรษฐกิจในปี 2563 หดตัวถึง 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเกิดวิกฤติโรคโควิด-19 ถ้ามองภาพให้ชัดเจนคือเราพลัดตกลงก้นเหวและปีนกลับขึ้นมาได้นิดเดียวเท่านั้น ต้องใช้แรงอีกพอสมควรกว่าจะกลับไปจุดเดิมที่เราตกมาได้
.
มันน่าเป็นห่วงที่ทุกประเทศกระทบหนักเหมือนกัน แต่ฟื้นตัวขึ้นมาในระดับที่ไม่เท่ากันนี่ล่ะครับ
.
มองกลับไปที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับผลกระทบอ่วมที่สุดชาติหนึ่ง ปีนี้กลับตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 6.5% ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่แรงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปีนับจากปี 2527 เลยล่ะครับ สอดคล้องกับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ แถลงล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเห็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแรงตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้ตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัวเกินกรอบบน แต่ก็ยังรับได้และจะคอยตามดูอย่างใกล้ชิด
.
ดร.เชาวน์ บอกว่าดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Core Personal Consumption Expenditure : PCE) ของสหรัฐอเมริกายังไม่ถือว่าสูงมากอยู่ที่ 1.4% ดังนั้นแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะทำให้เฟดถอนคันเร่งมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายคงไม่ได้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้หรอกครับ เว้นเสียว่าตัว PCE นี้จะดันทะลุ 2% พร้อมๆ กับตัวเลขว่างงานที่สูงลิบ บนเงื่อนไขที่การแพร่ระบาดสงบลงแล้ว เมื่อนั้นอาจจะถึงเวลาพิจารณาเรื่องการขึ้นดอกเบี้ย
.
เฟดน่าจะยังอัดฉีดเงินต่อเนื่องเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐทุกเดือนเพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์/ตราสารหนี้ภาคเอกชนต่อไปเรื่อยๆ จะลดส่วนนี้ลงก็อาจจะเป็นอย่างปีหน้าเป็นต้นไป ดังนั้น เงินก็จะยังคงไหลทะลักออกมาแบบนี้จากอเมริกาที่ทุ่มหมดหน้าตักไม่อั้นแบบนี้ต่อไปก่อน
.
ทำไมอเมริกาฟื้นได้เร็ว?
.
คือนอกจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและอะไรต่อมิอะไรที่คงมีคนพูดกันไปเยอะแล้ว ต้องบอกว่าการจัดการในภาวะวิกฤติของประเทศนี้ทำได้น่าสนใจทีเดียว กระทั่งในถ้อยแถลงของประธานเฟดก็ยังบอกเองว่า การกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ทำได้อย่างรวดเร็วถึงวันละ 3 ล้านโดสนั้นมีผลอย่างมากต่อความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
.
วันละ 3 ล้านโดส
.
แม้ตอนนี้จะยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่อย่างที่หวังกัน แต่ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ขีดเส้นใต้คำตอบให้เราได้เป็นอย่างดีว่า วัคซีนมันมีผลจริงๆ นะกับทั้งมิติด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ
.
นอกจากนี้ จะเห็นว่าการอัดฉีดเงินแบบไม่ยั้งมือ คิดเป็นเม็ดเงินหลายสิบเปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจอเมริกานั้นได้ผล จะได้ผลเท่าที่ควรจะเป็นหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ได้ผลที่เห็นชัดแน่ๆ ทั้งการให้เงินโอนโดยตรงไปที่ประชาชน ให้แบบไม่ต้องมีข้อจำกัดจุกจิก ถึงจะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าทำให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เพราะคนไม่เอาเงินไปบริโภคแต่เอาไปลงทุนตลาดหุ้นแทน รัฐบาลเขาก็ไม่ต้องมานั่งไล่ตรวจสอบหรือทำอะไรที่จะทำให้ 'เรื่องที่ใหญ่กว่า' อย่างการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาต้องสะดุด
.
ค่อนข้างชัดเจนว่าระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยี การจัดการ และการปฏิบัติการของอเมริกาทำได้ดีทีเดียว
.
ยิ่งโซเชียลมีเดียของทำเนียบขาว นำเสนอคลิปวิดีโอสั้นของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่บอกว่าทุกคนต้องได้รับการปกป้อง ทุกคนต้องได้รับวัคซีน แถมยังถอดหน้ากากพูด ถือเอาไว้ในมือ เป็นสัญลักษณ์ Mask Off ด้วย ก็ต้องชมเขาจริงๆ ในฐานะดินแดนของนักการตลาดที่เก๋าเกมมาก
.
มองกลับมาที่ประเทศไทย ค่อนข้างชัดเจนจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่แล้วว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นความหวังของกระแสเงินมหาศาลในยุคก่อนโควิด-19 คงจะไม่กลับมาได้ในปีนี้ หลายสำนักเศรษฐกิจปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลงแล้ว ซึ่งกระทบต่อไปที่ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
.
พระเอกคนเดียวที่ต่อสู้อย่างเหนื่อยอ่อนของบ้านเราคือ การส่งออกที่กลับมาเติบโตได้ดีในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของตลาดโลก แต่ยุคนี้จะรอการส่งออกเพียงอย่างเดียวหรือกลุ่มสินค้าแบบเดิมคงยากแล้ว เพราะว่าทาง K-Research ก็บอกเองครับว่า พอลูกค้าเริ่มกลับมาซื้อของ เราขายดี เพื่อนบ้านเราก็ขายดีด้วย และอาจจะขายดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่าเขาทำสินค้าที่เป็นที่ต้องการ รองรับอุปสงค์ต่อสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีในอนาคต ขณะที่สินค้าที่เราวางขายนั้น หน้าตายังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมสักเท่าไหร่เลย
.
ลองนึกภาพตลาดที่มีคนจอแจ คึกคักดูสิครับ แต่แล้วก็จะมีบางร้านที่เจ้าของบ่นว่า "ขายของไม่ดีเลย" อยู่ดี
.
ระหว่างที่เรารอให้การท่องเที่ยวกลับมาเติบโตนั้น เราจะปล่อยให้การส่งออกเป็นเครื่องจักรเพียงตัวเดียวที่พาเรือทั้งลำไปข้างหน้าจริงๆหรือ? โจทย์นี้ยากมากจริงๆ ครับ เรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ขีดความสามารถในการแข่งขัน และอีกสารพัดเรื่องที่ต้องจัดการแบบนี้ ผมเองก็ได้ยินมานานมากตั้งแต่ยังเป็นนิสิตเศรษฐศาสตร์ปี 1 แล้ว
.
ผมถาม ดร.เชาว์ ว่าตอนนี้เราควรจะเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรเข้าไปอีกดี คำตอบที่ได้รับคือ ถึงใช้ยาตัวไหนไปในตอนนี้ก็จะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่ต้องทำก่อนให้ได้คือ การสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม้นี้ให้ได้ก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย
.
ไฟไหม้บ้าน ก็ต้องดับไฟก่อน อยู่ๆ จะซ่อมแซมเลยก็ไม่ได้ผล
.
สุดท้ายนี้ BizKlass ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานอย่างยากลำบากครับ แน่นอน คงต้องส่งแรงใจไปให้ผู้ที่กำลังช่วยกันแก้ไข กอบกู้สถานการณ์ของชาติกันด้วยครับ โดยส่วนตัว ผมเองก็เห็นด้วยกับเรื่องการยกระดับการบริหารจัดการวัคซีนเสียใหม่ จะด้วยฝีมือรัฐเพียงอย่างเดียวหรือให้เอกชนเข้ามาช่วยก็ตามที ขอเพียงปัญหาได้รับการแก้ไข อะไรๆ ก็จะดีขึ้นครับ
.
และต้องเร่งมือหน่อย เพราะการแก้ปัญหาที่ช้าเกินไปก็ไม่ได้ดีไปกว่าการไม่แก้ปัญหาเลย
- เล็ก-มนต์ชัย -
Comments