top of page
  • Writer's pictureMonchai Wongkittikraiwan

Profile สีดำของ 'เนย์ ลิน'

ผมส่งข้อความไปหาเพื่อนนักข่าวเมียนมาเพื่อไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ เราเจอกันครั้งแรกที่โครงการอบรมนักข่าวเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิคเมื่อหลายปีก่อน แน่นอนว่าเป็นช่วงก่อนการรัฐประหารเมียนมาปี 2021

.

เนย์ ลิน เป็นนักข่าวหนุ่มไฟแรง ภาษาอังกฤษดีเยี่ยมและดูเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่เมียนมาที่กำลังเติบโต เบ่งบาน และมีความหวังในขณะนั้น

.

มาวันนี้ เขาบอกผมว่าไม่ได้เป็นนักข่าวแล้ว ผันตัวมาช่วยงานธุรกิจของภรรยาแทน

.

และรูป Profile ของเขาตั้งเป็นสีดำมาเป็นปีแล้ว


เขาบอกว่าตอนนี้ คนที่เป็น 'นักข่าว (Journalist)' อพยพหลบหนีไปต่างประเทศกันหมด ส่วนคนที่ยังอยู่ต่อก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้แบบเดิม ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์แบบที่เขาทำนี่ล่ะ

.

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สำนักเศรษฐกิจต่างๆ ออกบทวิเคราะห์ ปรับมุมมองเมียนมาให้เป็นประเทศที่เนื้อหอม น่าลงทุน บริษัทขนาดใหญ่ต่างจับจองพื้นที่ ปักหมุนเป็นฐานการผลิตใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงออกจากประเทศจีน

.

เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเมียนมาแตะจุดสูงสุดที่ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2015 จากบรรยากาศที่ดีของการปฏิรูปประเทศสู่ประชาธิปไตย เม็ดเงินส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคการผลิต อุตสาหกรรมหนัก แน่นอนว่าน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติทางตอนเหนือของประเทศคือขุมทรัพย์สำคัญที่ต่างชาติมองกันตาวาว

.

แต่พอถึงปี 2017 ฝุ่นใต้พรมอย่างปัญหาโรฮิงญาที่ผู้มีอำนาจซุกซ่อนจากสายตาโลกเริ่มทะลักออกมา เกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและมาตรการกดดันจากทุกทิศทุกทาง จน FDI ของเมียนมาเหลือแค่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019

.

และฝันร้ายของชาวเมียนมาก็เกิดขึ้นเมื่อโรคโควิด-19 สร้างความปั่นป่วนในปี 2020 ตามมาด้วยการรัฐประการในปี 2021 ซึ่งเป็นฟางเส้นสุดท้ายก่อนที่ความวุ่นวายจะเกิดขึ้นแบบที่เห็นในปัจจุบัน

.

หนังม้วนเดิมฉายซ้ำ เมื่ออองซาน ซูจี 'ที่ปรึกษาแห่งรัฐ'ในตอนนั้น โดนยึดอำนาจและควบคุมตัว ประวัติศาสตร์เดินถอยหลังกลับไปดังเช่นภาพข่าวที่เราเคยเห็นสมัยยังเด็ก

.

แต่ผลลัพธ์ไม่เหมือนเดิม

.

คาดการณ์ว่า FDI ของเมียนมาจะอยู่ที่ราว 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ประเมินว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะขยายตัวเพียง 1.5% ในปี 2024 ส่วนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)มองว่าจะโตแค่ 1.2% เท่านั้น

.

ขนาดเศรษฐกิจของเมียนมาอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (เล็กกว่าไทย 7 เท่าตัว) สินค้าส่งออกหลักของเมียนมาที่ผ่านมาคืออัญมณี สิ่งทอ ก๊าซธรรมชาติ ข้าวและยางดิบ คู่ค้าที่สำคัญคือประเทศจีน ไทย เยอรมนี ญี่ปุ่นและอเมริกา

.

ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติ ศักยภาพของชนชั้นกลางที่ขยายตัว(ก่อนปี2021) วัยรุ่นของเมียนมารับวัฒนธรรมสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว มีกลุ่มคนที่ชอบ K-Pop อย่างเป็นเรื่องเป็นราวด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาจะมีเสียงบ่นเรื่องไฟดับ ไฟตกแล้วกระทบกับการผลิตอยู่บ้าง แต่นักลงทุนก็ยังมองเห็น'โอกาส'และหวังว่าสักวันมันจะกลับมาอีกครัังที่ประเทศแห่งนี้

.

ความยากสุดๆที่ทุกคนรู้ดีคือ ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาเอง แม้หลังสงครามโลกครัังที่ 2จบลง ตามด้วยการเป็นเอกราชจากอังกฤษ เกิดความตกลงปางโหลง (Panglong Agreement) แต่ก็ไม่เคยบรรลุผลตามที่คาดหวังไว้ เราได้ยินเรื่องรัฐฉาน เรื่องนายพลเนวินและสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว และมันก็ยังเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

.

ผมไม่ได้ถามเนย์ ลินว่าสักวันเขาจะกลับมาเป็นนักข่าวอีกหรือเปล่า ได้แต่เอาใจช่วยขอให้เขาปลอดภัยและสถานการณ์ต่างๆผ่านไปได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมหวังจะได้เจอกับเขาอีกครั้ง จะในกรุงเทพฯหรือเนปิดอว์ก็ตามที

.

ในฐานะนักข่าว มองดูประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีนักข่าวหรือมีนักข่าวไม่ได้ทำหน้าที่นักข่าว มันรู้สึกแปลกยังไงก็ไม่รู้

.

Comments


bottom of page