‘สตาร์ทอัพ’ เคยเป็นคำที่เท่มากเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่โลกธุรกิจแตกตื่นกับบริการการเดินทางรูปแบบใหม่ (Ride Hailing) ของ Uber ที่กลายเป็นตำนานและสร้างนิยามที่เป็นรูปธรรมให้กับวงการสตาร์ทอัพ หรือบริการแชร์ที่พักอาศัยอย่าง Airbnb ก็ทำให้โรงแรมและธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์สั่นสะเทือน คำว่าสตาร์ทอัพจึงสะท้อนความสดใหม่ของผู้คน เทคโนโลยี และการประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นไปโดยปริยาย
สิ่งที่ทำให้ความจริงแตกต่างจากจินตนาการก็คือ ‘ผลลัพธ์’
และจากผลที่เห็นกันอยู่ ดูเหมือนตอนนี้การเป็นสตาร์ทอัพจะไม่เท่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
สตาร์ทอัพเป็นหลักการเพื่อสร้างโลกใหม่ หรือแฟชั่นของโลกธุรกิจที่มาไวไปไวกันแน่?
คำนิยามของสตาร์ทอัพนั้นมีหลากหลาย แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างไปจากธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs อย่างชัดเจนคือ ‘ของใหม่’ ที่มี ไม่ว่าจะไอเดียใหม่ สินค้าใหม่ บริการใหม่ หรือรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ก็ตามที สตาร์ทอัพจึงเป็นผู้ที่สร้างโซลูชั่นใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา (Pain Points) ที่ยังไม่เคยแก้ได้ หรือเคยมีคนแก้ แต่ยังทำได้ไม่ดี ขณะเดียวกันโซลูชั่นเหล่านั้นก็ต้องสามารถปรับใช้กับผู้ใช้งาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อื่นๆ ได้เป็นการทั่วไป นั่นคือเราใช้ Grab ที่อินโดนีเซียได้ ก็สามารถนำมาใช้งานกับประเทศไทยได้เลย โดยไม่ต้องไปรื้อโครงสร้างหรือทำอะไรเพิ่มเติมจนผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิม
ขีดความสามารถในการขยายตัวได้อย่างรวดเร็วของธุรกิจ (Scalability) นี่ล่ะ คือพลังที่แตกต่างของสตาร์ทอัพ
ฟังไอเดียข้างต้น ก็เกิดแรงบันดาลใจและทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากอยากเป็นสตาร์ทอัพ บ้างก็ลาออกจากงานมาเปิดบริษัทเต็มตัว บ้างก็นำเงินจากกิจการของครอบครัวมาลองผิดลองถูกดู ด้วยหวังจะเปลี่ยนโลกและกลายเป็นอีลอน มัสก์คนที่สองในวันข้างหน้า มีสตาร์ทอัพถือกำเนิดขึ้นเต็มไปหมดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนคนในวงการเทคโนโลยีบางส่วนเริ่มตั้งข้อสังเกตเรื่อง ‘ฟองสบู่สตาร์ทอัพ’ และความเท่ของสตาร์ทอัพก็คลายมนต์ขลัง กลายเป็นอีกรูปแบบของบริษัทหน้าใหม่ที่มีอย่างดาษดื่นไปเสียแล้ว
ทำไมสตาร์ทอัพจึงล้มเหลว?
ประเด็นหลักที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายพูดเหมือนกันคือโมเดลการทำธุรกิจที่ยังไม่ดีพอ แม้สิ่งที่คิดค้นมาได้จะเป็นเรื่องวิเศษแค่ไหนก็ตามที แต่ถ้าไม่สามารถนำมาผลิต หรือปฏิบัติได้จริงก็เปล่าประโยชน์ หรือถ้าทำออกมาได้ แต่ไม่ได้สร้างคุณค่าหรือมูลค่าเพิ่มให้กับใครเลย เข้าทำนองมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ นี่ก็ถือเป็นธุรกิจที่ล้มเหลว สิ่งที่ต้องจำใส่ใจเสมอ คือสตาร์ทอัพก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง ต้องมีระบบบัญชี โครงสร้างเงินเดือน และผลตอบแทนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ระบบบริหารจัดการสต็อก (กรณีผลิตเป็นสินค้าออกมา) ต้องเสียภาษี บริหารกระแสเงินสด และอะไรต่อมิอะไรที่ต้องทำในฐานะนิติบุคคลอยู่ดี ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีพอ ก็ล้มไม่เป็นท่าเหมือนกับสตาร์ทอัพอายุสั้นทั้งหลายที่ปิดตัวไปจนนับไม่ถ้วนในขณะนี้
เรื่องใหญ่อีกข้อคือการประเมินขนาดของตลาด (Market Size) ซึ่งปราบเซียนมานักต่อนักแล้ว ถ้าเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากอย่างจีน ก็มีโอกาสสูงที่สตาร์ทอัพจะทะยานสู่ระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าธุรกิจ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐได้จากการทำตลาดภายในประเทศ เพราะฐานลูกค้ามหาศาล มีกำลังซื้อที่เหลือเฟือ แต่สำหรับสตาร์ทอัพไทย ถ้าคิดจะเป็นใหญ่แล้ว ทำตลาดในประเทศอย่างเดียวอย่างไรก็ไม่เพียงพอที่จะเป็นยูนิคอร์น หรือเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยตัวเองได้ เราจึงเห็นหลายแบรนด์ที่พยายามพาตัวเองออกไปสู่ตลาดใหม่ในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือเวียดนามเองก็ตาม
อีกเรื่องที่บรรดานักลงทุนทั้งหลายสนใจคือสตาร์ทอัพรายนั้นๆ ‘หาเงิน’ ได้จริงๆ เท่าไหร่กันแน่ เวลาได้ยินข่าวว่ามีสตาร์ทอัพระดมทุนได้เท่านั้นเท่านี้ คนก็สนใจและคิดว่าธุรกิจไปรอดแล้ว ความจริงคือเงินที่ได้จากการระดมทุนกับเงินที่เกิดจากการทำธุรกิจ มีคนใช้สินค้าและบริการจริงๆ นั้นไม่เหมือนกัน ซึ่งอย่างหลังสำคัญกว่า และนักลงทุนที่ชาญฉลาดจะมองขาดในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะนำเสนอข้อมูลได้ดีอย่างไร ถ้าโมเดลธุรกิจไม่ดีจริง ก็คงยากที่จะมีผู้ร่วมหัวจมท้ายไปด้วย
ผมมีโอกาสได้คุยกับคุณโจ้ - รังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ซีอีโอของ QueQ ที่ตอนนี้ขยายธุรกิจครอบคลุมมากกว่าการจองโต๊ะร้านอาหาร ไปเป็นการจองคิวและช่วยจัดการกระบวนการทำงานของโรงพยาบาล รวมทั้งหน่วยงานราชการด้วย เราเห็นตรงกันว่าสตาร์ทอัพนั้นอาจจะเป็น ‘สถานะ’ มากกว่าการเป็นประเภทขององค์กรธุรกิจก็เป็นได้ ปลายทางของสตาร์ทอัพที่เติบโตมีทางเลือกไม่มากนัก ถ้าไม่ขายกิจการ หรือผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหลาย ก็อาจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเปลี่ยนรูปโฉมเป็นบริษัทมหาชนในที่สุด ไม่ว่าจะทางเลือกไหนก็ตามที บทบาทและหน้าที่ก็แตกต่างไปจากจุดเริ่มต้นของความฝันอย่างแน่นอน
แต่นั่นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เขาเป็นห่วง
ขณะนี้วงการสตาร์ทอัพทั้งโลกรวมถึงในประเทศไทยแผ่วลงอย่างชัดเจน ผู้ที่กระโดดมาทำธุรกิจแบบเท่ๆ ต่างก็ล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว ส่วนที่หลงเหลืออยู่อีกมากก็กำลังพยายามหาทางผลักดันบริษัทให้เติบโตขึ้นไปอีก จนแทบจะไม่มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่อนาคตไกลที่โดดเด่นเตะตานักลงทุน บรรดา Venture Capital (VC) ของไทยเองก็เริ่มหันไปลงทุนในสตาร์ทอัพต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้มีระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพมากกว่าประเทศของตนเอง มิหนำซ้ำยังมีไอเดียที่แปลกใหม่และโซลูชั่นที่ช่วยต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้ดีกว่าสตาร์ทอัพไทย
คุณโจ้มองว่านี่อาจจะเป็น ‘การเสียเอกราชทางดิจิทัล’ ของบ้านเราก็เป็นได้ เพราะสตาร์ทอัพที่เป็นกำลังพลยุค 4.0 ที่มี
อยู่ นอกจากจะน้อยแล้ว ยังแข็งแรงสู้นักรบดิจิทัลจากต่างประเทศไม่ได้ จะเห็นได้จากการเข้ามาของซูเปอร์
แพลตฟอร์มทั้งหลายที่เริ่มต้นจากบริการการเดินทาง ขยายไปสู่บริการจัดส่งอาหารและสินค้า ต่อยอดไปถึงบริการรับชำระเงินในที่สุด ซึ่งในอนาคตอาจจะให้บริการทางการเงินได้ครบวงจร และชีวิตประจำวันของคนไทยก็จะพึ่งพาแพลตฟอร์มจากสตาร์ทอัพต่างประเทศเหล่านี้มากจนถอนตัวไม่ขึ้น
จากนั้นเทคโนโลยีต่างชาติก็ยึดครองประเทศได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่า
มันคงไม่ใช่แค่เรื่องของสตาร์ทอัพอีกต่อไป แต่เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้บริหารประเทศในการผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่จำเป็น ตลอดจนสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตและยืนหยัดได้ด้วยสองขาของตัวเอง อาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจให้ได้จริงๆ ว่าสตาร์ทอัพคืออะไร ต่างจาก SMEs อย่างไร และจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจแค่ไหน รวมทั้งแสดงความจริงใจในการปลุกปั้นธุรกิจเหล่านี้ แทนการพูดเท่ๆ แต่ไม่ทำเสียที
ถ้า ‘Start’ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในวันที่โลกหมุนเร็วขนาดนี้
ก็เสี่ยงเหลือเกินกับอนาคตที่ต้อง ‘Stop’ และไปต่อไม่ได้
ดูข่าวต้นฉบับ: https://www.gqthailand.com/views/article/how-startups-stop
Comments