คำว่า CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรกลายเป็นคำที่น่าเบื่อ สร้างภาพ และเปล่าประโยชน์สำหรับใครหลายคนในยุคนี้ เวลาที่ได้ยินคำว่า CSR อย่างนั้นอย่างนี้ เรามักจะนึกถึงภาพคุณหญิง คุณนาย หรือข้าราชการระดับสูงยืนยิ้มแฉ่งเรียงแถวหน้ากระดานถ่ายภาพกับป้ายไวนิลตัวอักษรขนาดใหญ่ มีชื่อโครงการยาวไม่ต่ำกว่าสองบรรทัด หลังถ่ายรูปเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้าน เพราะได้ภาพข่าวที่ต้องการแล้ว และโครงการทั้งหลายที่ประกาศออกไปนั้นก็ไม่ได้ทำกันอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายก็เลือนหายไป จนกว่าจะมีผู้บริหารคณะใหม่เดินทางมาทำกิจกรรมและถ่ายภาพร่วมกันอีก
ปลูกป่าหนึ่งครั้งแล้วก็จากไป สร้างฝายหนึ่งครั้งแล้วก็จากไป บริจาคของหนึ่งครั้งแล้วก็จากไป
จะว่าไปแล้วการให้ความสำคัญและทำ CSR อย่างจริงจังนั้น สอดคล้องกับองค์กรที่มีแนวคิดสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงผลกระทบของทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของตน สะท้อนความใส่ใจในคุณค่าของความเป็นมนุษย์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความจริงใจที่จะร่วมสร้างสมดุลใหม่ของโลกที่ดีกว่าจริงๆ จึงไม่แปลกที่ CSR ที่ประสบผลสำเร็จในวงกว้างจนเป็นที่ยอมรับและถือเป็น ‘ของจริง’ นั้น มักจะเกิดกับองค์กรที่มีธรรมาภิบาลโปร่งใส พร้อมกับมีแบรนด์ที่เข้มแข็งมากกว่าองค์กรที่เปลี่ยนทิศทางธุรกิจกลับไปกลับมา และขาดพื้นฐานที่ดีในการทำธุรกิจ
ถ้าเปรียบเทียบอย่างง่ายระหว่างมูลค่าสินค้าและบริการที่ภาคธุรกิจทั่วโลกผลิตออกมาได้ โดยใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ไม่เคยมีมากพอสำหรับความต้องการของมนุษย์ และมูลค่าความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การย้ายถิ่นฐานแบบถาวรจากปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งระบบนิเวศที่พิกลพิการจากการบุกรุก เบียดเบียน จะพบว่าเม็ดเงินสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมจากองค์กรทั้งหลายนั้นเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่โลกใบนี้เสียไป
และหลายอย่าง... เงินก็ซื้อไม่ได้
Global Forest Watch แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เกิดจากความร่วมมือขององค์การนาซ่า กูเกิล สถาบันการศึกษา และอีกหลายภาคส่วนผนึกกำลังกันสำรวจพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกแบบใกล้เคียงความจริงมากที่สุดเคยรายงานในปี 2018 ว่า ป่าไม้ทั่วโลกหายไปมากถึง 1.2 แสนตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับการทำลายสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน 30 สนามทุก 1 วินาที นอกจากการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว สิ่งที่เป็นภัยมหันต์คือไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เราเห็นในบราซิล อินโดนีเซีย หรือกระทั่งออสเตรเลียเองก็ตามที ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวพันโดยตรงกับภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming อย่างชัดเจน เนื่องจากอากาศร้อนขึ้น ทำให้พืชพรรณทั้งหลายและผิวดินแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดภาวะอากาศร้อนและแห้งแล้งยาวนานมากกว่าปกติ นำไปสู่ไฟป่าที่คร่าชีวิตสัตว์น้อยใหญ่จำนวนมาก ดูเหมือนสถานการณ์ไฟป่ามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตด้วย
นอกจากเรื่องพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกมากทั้งปัญหาน้ำเสีย ขยะพลาสติก มลภาวะ รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการบริโภคสินค้าบางประเภทมากจนเกินพอดี ทุกวันนี้มนุษย์บริโภคด้วยแรงผลักดันของการตลาดมากกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐาน หรือการตอบสนองความต้องการอย่างสมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์จริงๆ และเมื่อเรารู้จักคำว่า ‘โลกาภิวัตน์’ หรือ Globalization ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดการย้ายฐานการผลิตจากประเทศขนาดใหญ่ไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อลดต้นทุน เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เติบโตไปพร้อมกับความพังพินาศของสิ่งแวดล้อมจากการสูบกินทรัพยากรทางธรรมชาติด้วย
CSR จึงเกิดขึ้นจากแรงกดดันที่มีต่อภาคธุรกิจจากทุกทิศทุกทาง
ตักตวงผลประโยชน์ไปเยอะแล้ว ก็ต้องคืนกำไรกลับมาบ้าง
แนวคิดเรื่อง CSR เกิดขึ้นในยุค 1950 โดยฮาวเวิร์ด โบเวน (Howard Bowen) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน แต่เริ่มนำมาใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวในยุค 1970 โดยให้ความสำคัญระหว่างผลประโยชน์ของธุรกิจที่เชื่อมโยงกับสังคม จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างและนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานในองค์กร ไปจนถึงการสอดแทรกอยู่ในกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับการกำกับดูแลบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเวลาต่อมา ปัจจุบัน หลายองค์กรได้ตั้งทีมหรือแผนก CSR ขึ้นมาสำหรับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมโดยตรง มีงบประมาณและโครงสร้างของคณะทำงานที่ชัดเจน มีการรายงานตรงต่อผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ขณะที่บางบริษัทก็ผนวกงานของ CSR เข้ากับฝ่ายสื่อสารองค์กร ธุรกิจสัมพันธ์ หรือกระทั่งส่วนงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ตามที
ปัจจุบัน กลุ่มองค์กรเอกชนที่ได้รับการยอมรับว่ามี CSR ที่เป็นเลิศระดับโลก ได้แก่ LEGO, Walt Disney, Rolex, Ferrari, Microsoft, Levi’s, Netflix และ Adidas เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแรงทั้งตัวแบรนด์สินค้าและแบรนด์องค์กร เรามักจะได้ยินคำว่า ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ หรือ Circular Economy บ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสอดคล้องกับหมุดหมายสำคัญที่บริษัทเหล่านี้นำมาปรับใช้กับกระบวนการทางธุรกิจของตนเองเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด นำกลับมาใช้ได้ไม่รู้จบ และเกิดของเสียจากกระบวนการผลิตน้อยที่สุด อย่างลีวายส์ (Levi’s) ที่นำพลาสติกมารีไซเคิล ก่อนนำไปแปรรูปและถักทอเป็นเส้นใยผสมกับผ้าที่มี เพื่อตัดเย็บเป็นกางเกงยีนส์เท่ๆ ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนทีเดียว
แม้บริษัทขนาดใหญ่ของโลกจากการจัดอันดับใน Fortune 500 ก็ใช้งบประมาณถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6 แสนล้านบาท ต่อปี เพื่อใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR แต่ถ้าเปรียบเทียบรายได้รวมของยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจกลุ่มนี้พบว่าสูงเกือบ 14 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 434 ล้านล้านบาท มีผลกำไร 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 34 ล้านล้านบาท จะเห็นได้ว่างบประมาณด้าน CSR นั้นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเงินก้อนมโหฬารที่ภาคเอกชนหามาได้ บ่อยครั้งที่ CSR หรือวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งหลายกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารการตลาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีผลต่อกระบวนการทางธุรกิจที่มีกับลูกค้าและซับพลายเออร์ แน่นอนว่าบริษัทที่ดูใจดี ทำเพื่อสังคมนั้นก็ดูจะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้บริโภค และยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีกว่าบริษัทที่ไม่ได้ทำ CSR
แม้ทั่วโลกจะตกปากรับคำเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกัน และผลักดัน Carbon Credit ให้เกิดขึ้น แต่ Carbon Credit นี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ 'เงินซื้อได้ อยู่ดี'
สิ่งที่ทั่วโลกพูดถึงกันอย่างเท่ๆ ในเวทีประชุมขนาดใหญ่ คือ Carbon Footprint หรือการควบคุมก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตสินค้า โดยจะทำการคำนวณตลอดวัฏจักรของการผลิต เพื่อร่วมกันลดมลพิษที่คุกคามโลกหนักข้อมากขึ้นทุกวัน เรื่องนี้ถูกนำมาปรับใช้กับภาคธุรกิจทั่วโลกและมีผลต่อการค้าขายโดยตรง ก่อเกิดข้อกำหนดเรื่องการนำเข้า-ส่งออกสินค้าโดยใช้ Carbon Footprint เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดด้วย อย่างไรก็ตาม สำนักงานพลังงานสากล หรือ International Energy Agency เคยออกรายงานระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศร่ำรวยอย่างอเมริกา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิกกลับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ก็ทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
เรารู้กันดีว่าโลกทุนนิยมนั้นมีข้อยกเว้นที่สมเหตุสมผลเสมอ แม้ทั่วโลกจะตกปากรับคำเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกัน และผลักดัน Carbon Credit ให้เกิดขึ้น แต่ Carbon Credit นี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ ‘เงินซื้อได้’ อยู่ดี โดยประเทศที่ร่ำรวยมักอ้างว่าต้นทุนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศของตนเองสูง จึงเลือกให้เงินกับประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อทำเรื่องดังกล่าวแทน ซื้อขาย Carbon Credit กันผ่านตลาดคาร์บอน เหตุผลที่สวยหรูก็คือการช่วยผู้ที่ยากลำบากให้มีเงินไปพัฒนาประเทศและรักษาสิ่งแวดล้อม เคาะบรรทัดสุดท้ายปริมาณคาร์บอนก็ควบคุมได้นั่นล่ะ เพราะมองเป็นภาพรวมทั้งโลก ทั้งที่คนตัวใหญ่ก็ยังตักตวงทรัพยากรจากโลกใบนี้อย่างเต็มไม้เต็มมือ จึงมีผู้วิจารณ์เรื่องนี้ว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าจะกดดันให้เอกชนรับผิดชอบต่อโลกนี้จริงๆ เพราะคนรวยสามารถซื้อ Carbon Credit ราคาถูกจากคนจนเมื่อไหร่ก็ได้
โลกจึงเป็นอย่างที่มันเป็นในทุกวันนี้ และความคิดเรื่องเมืองกรุงจมน้ำ คนย้ายไปอยู่ดาวอังคาร หรือกระทั่งการล่มสลายของมนุษยชาติก็ยังจะหลอกหลอนพวกเราทุกคนต่อไป โดยที่เราก็ยังกินเหมือนเดิม ใช้เหมือนเดิม ทิ้งขยะเหมือนเดิม หรืออาจจะมากขึ้นกว่าเดิม และคิดว่านี่คงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรอก อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของเรา
ป้ายไวนิลจะยังอยู่คู่กิจกรรม CSR รักษ์โลกแบบฉาบฉวยต่อไป เพียงแต่ผู้บริโภคที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ดีขึ้น ก็จะแยกแยะได้ว่าอันไหนของจริง อันไหนของปลอม และใครที่ตื่นรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ
ของแบบนี้ ดูออก...
ดูข่าวต้นฉบับ: https://www.gqthailand.com/views/article/the-truth-about-csr
תגובות