ยังไงผมก็ต้องเขียนเรื่องนี้ให้ได้ครับ
พอเข้าเดือนพฤษจิกายน ปัญหาฝุ่นขนาดเล็กหรือ PM2.5 ก็กลับมาหลอกหลอนสุขภาพคนไทยอีกครั้ง เป็นแบบนี้มาไม่รู้กี่ปีแล้ว
ตอนนี้โทษของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพกลายเป็นที่รู้กันในวงกว้างดีแล้ว เราพูดกันเรื่องจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เพิ่มมากขึ้น การอักเสบในร่างกายและใครที่เป็นโรคภูมิแพ้ (แบบตัวผม) ก็คงเข้าใจว่า ชีวิตได้รับผลกระทบอย่างไรจากฝุ่นจิ๋วนี้
ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนคือ 'คุณหมอฝน' แพทย์หญิง ชนกานต์ ชัชวาลา อาจารย์และจิตแพทย์ไทยคนเก่ง ระหว่างที่เธอเดินทางไปเม็กซิโกซิตี้เพื่อบรรยายในงาน world psychiatric association หัวในข้อ 'Conflict Management and Resolution Section' ในฐานะ Leadership Council
ผมถามหมอฝนว่า ฝุ่นจิ๋วพวกนี้ มันมีผลกระตุ้นหรือทำให้อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลแย่ลงหรือเปล่า? ทำไมช่วงนี้ของทุกปีจึงรู้สึกไม่สบายเนื้อตัวหรือกระวนกระวายแปลกๆ
หมอฝนบอกว่า เกี่ยวแน่นอน! และยังมีผลกระทบที่รุนแรงกว่านั้นอีกด้วย
โดยผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพจิตถือเป็นมหันตภัยเงียบที่ส่งผลต่อใจและสมองในหลายพื้นที่ทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือยืนยันเรื่องนี้พอสมควร
เริ่มจากผลกระทบโดยตรงต่อระบบประสาทและสมอง จากงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ฝุ่น PM2.5 สามารถกระตุ้นการอักเสบในระบบประสาท ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในเซลล์ประสาท เช่น การเสื่อมของเซลล์และการทำงานที่ลดลงของระบบประสาทส่วนกลาง ในมนุษย์เอง ฝุ่น PM2.5 อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองในระยะยาว เช่น ความผิดปกติของสารสื่อประสาท (neurotransmitters) และการเสื่อมสภาพของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้าและโรคจิตเภทได้
ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมคือทำให้เกิดการแยกตัวและความเหงา เนื่องจากคนลดกิจกรรมนอกบ้าน นอกอาคารลง ส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคม โดยพบว่าคนที่อาศัยในพื้นที่ฝุ่นหนาแน่นมักลดการออกนอกบ้าน หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นำไปสู่การแยกตัวทางสังคม (social isolation) และความเหงาในระยะยาว ความเหงานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวลและความรู้สึกหมดกำลังใจให้รุนแรงขึ้น
ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล การเผชิญกับฝุ่น PM2.5 ยิ่งเพิ่มความยากลำบากในการดูแลตนเองและอาจซ้ำเติมอาการที่มีอยู่เดิม เช่น อารมณ์แปรปรวน รู้สึกอ่อนล้า และความเครียดที่รุนแรงขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ ไม่แน่ใจว่า BizKlasser คนไหนเริ่มตะหงิดใจกับอารมณ์ของตัวเองช่วงนี้กันบ้างหรือเปล่าครับ?
หมอฝนแนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพจิตในยุคฝุ่นครองเมืองแบบนี้โดยดูแลสุขภาพกายและใจให้ดี สวมหน้ากากที่มีประสิทธิภาพกรอง PM2.5 ใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน และพยายามทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น การทำสมาธิหรือออกกำลังกายในพื้นที่ปลอดฝุ่น
เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องกลับมาตั้งคำถามกันดังๆ ว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเรา
สิทธิ์ในการเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานอันชอบธรรมของมนุษย์ใช่หรือไม่? หมอฝนชี้ว่าการแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องมองในระดับมหภาค โดยเรียกร้องให้ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดการคุณภาพอากาศอย่างจริงจัง เพราะอากาศสะอาดคือสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรมี
เห็นด้วยใช่ไหมครับ?
Credit : 'หมอฝน'
รศ.พญ. ชนกานต์ ชัชวาลา
อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Comentários